
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก ต่างอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 3,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างยังคงปรับตัวลดลง อาทิ Tesla -1.7%, Amazon -1.3% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.55%

สรุปข่าว
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนมีนาคม และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 38% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาท (USDTHB) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า การแกว่งตัวของเงินบาทในระดับ +/- 1SD อาจอยู่ในช่วงราว +/-0.20% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ที่มาข้อมูล : IQ
ที่มารูปภาพ : Getty Images

ธัญวรัตน์ น่วมภักดี