ย้อนดูนโยบายกำแพงภาษี Smoot-Hawley ของสหรัฐฯ ปี 1930 ที่กระทบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า จนกระทบต่อเศรษฐกิจต่อทั้งโลก แต่เมื่อ 95 ปีก่อน หรือในปี ค.ศ. 1930 สหรัฐฯ ก็มีนโยบายภาษีครั้งใหญ่มาแล้ว และก็ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกเจอกับ Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 


ย้อนดู Smoot Hawley Tariff Act กฎหมายขึ้นภาษีในปี 1930

Smoot Hawley Tariff Act หรือ พระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสมูต-ฮอว์ลีย์ เป็นกฎหมายการเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 1930 ซึ่งผ่านการลงนามโดยประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1930 เป็นกฎหมายที่เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจและเกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายนี้มีชื่อเต็มว่า Tariff Act of 1930 และตั้งชื่อตามผู้สนับสนุนหลักคือ วุฒิสมาชิกรีด สมูต (Reed Smoot) แห่งรัฐยูทาห์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วิลลิส ฮอว์ลีย์ (Willis C. Hawley) แห่งรัฐโอเรกอน 


(วิลลิส ฮอว์ลีย์ และกรีด สมูต ภาพจาก Library of Congress)

กฎหมายนี้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ ปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจและเกษตรกรในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในตอนนั้น เกษตรกรชาวอเมริกันกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษ 1920 เกษตรกรเหล่านี้ประสบกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและการแข่งขันจากการนำเข้าจากยุโรป ที่ฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมาได้

โดยในช่วงแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1928 เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกระดับการปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศ ผ่านนโยบายภาษีศุลกากรที่เข้มงวดขึ้น

ในตอนแรก กฎหมายนี้ต้องการขึ้นภาษีมากถึง 40% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตน์สหรัฐฯ แต่สุดท้ายเมื่อกฎหมายผ่านสภามาได้หวุดหวิด ก็ได้ตั้งกำแพงภาษี หรือเพิ่มภาษีศุลกากรเฉลี่ยประมาณ 20% โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต 

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะในช่วงนั้นได้มีนักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 1,000 คน ที่ร่วมกันลงชื่อในคำร้องเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮูเวอร์ยับยั้งร่างกฎหมายนี้ โดยเตือนถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ แต่ฮูเวอร์ก็ลงนามรับรองกฎหมายนี้โดยหวังว่าตนจะสามารถใช้อำนาจที่ได้รับภายใต้กฎหมายในการปรับลดภาษีศุลกากรเฉพาะรายการได้ถึงร้อยละ 50 หากเห็นว่าส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ


สงครามการค้า จากนโยบายภาษีสหรัฐฯ

หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผลกระทบที่ตามมานั้นรุนแรงและขยายวงกว้าง โดยเฉพาะกับประเทศที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ รวมถึงต้องใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 

รวมถึงกว่า 25 ประเทศได้ตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรของตนเอง ส่งผลให้เกิดสงครามการค้าทั่วโลก และภายในระยะเวลาไม่กี่ปี การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงถึง 66% และระหว่างปี 1929 ถึง 1934 การส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ลดลงในระดับเดียวกัน และการนำเข้าและส่งออกของสหรัฐฯ  ไปยังยุโรปยังลดลงประมาณ 2 ใน 3 ด้วย

ทำให้มีการมองว่าผลกระทบจากภาษีศุลกากรนี้ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทวีความรุนแรงขึ้น


ย้อนดูนโยบายกำแพงภาษี Smoot-Hawley ของสหรัฐฯ ปี 1930 ที่กระทบวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

สรุปข่าว

กฎหมายภาษีศุลกากร Smoot Hawley เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้า แม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่กลับส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำลงและการค้าระหว่างประเทศหดตัวอย่างรุนแรง

แล้วนโยบายภาษีนี้ เป็นต้นเหตุของ Great Depression จริงไหม ?

มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ให้ความเห็นว่า Smoot-Hawley ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อรวมกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่มองเช่นกันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ต้นเหตุหลัก แต่การเพิ่มภาษีศุลกากร ก็ทำให้ประเทศที่กำลังดิ้นรน และลำบาก ต้องประสบกับปัญหามากขึ้น รวมถึงประเทศที่เป็นหนี้สหรัฐฯ และทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรของตนเอง ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก

ผลของ Smoot-Hawley ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน โดยเฉพาะวอลล์สตรีท ทั้งยังเป็นการมองว่า การขึ้นภาษีในลักษณะนี้คือสัญญาณของลัทธิโดดเดี่ยว (isolationism) ที่สหรัฐฯ เริ่มดำเนินนโยบายแบบแยกตัวจากโลกภายนอก


จุดจบของ Smoot Hawley Tariff Act ที่ถูกแทนด้วยเสรีการค้า

แต่นโยบาย Smoot Hawley ก็อยู่ได้เพียงไม่นานในช่วงสมัยของ ปธน.ฮูเวอร์ โดยในการเลือกตั้งปี 1932 ฮูเวอร์ได้พ่ายแพ้ให้กับแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ รวมไปถึงทั้งสมูตและฮอว์ลีย์ผู้เป็นตัวหลักในการเสนอนโยบายนี้ก็สูญเสียที่นั่งในสภาไปเช่นกัน 

หลังประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 1933 เขาได้ลงนามในพระราชบัญญัติข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (Reciprocal Trade Agreements Act) ในปี 1934 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติแนวทางภาษีสูงของ Smoot-Hawley และแทนที่ด้วยข้อตกลงทวิภาคีที่ช่วยลดภาษีและเปิดเสรีการค้าแทน

ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีบทบาทนำในการตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) ขณะที่กฎหมาย Smoot-Hawley ถูกทั้งนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า "เป็นหนึ่งในการกระทำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภา"


Smoot-Hawley และนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ ต่างกันอย่างไร ?

สำนักข่าว Fortune ประเมินว่า แผนภาษีของทรัมป์เสนออัตราภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยสูงถึง 22.7% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ Smoot-Hawley ที่อยู่ราว 20% 

แม้ว่าทั้งสองนโยบายจะมีเป้าหมายคล้ายกันคือการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ แต่กลยุทธ์ของทรัมป์นั้นแตกต่าง โดย Smoot-Hawley เน้นไปที่สินค้าเกษตรกรรมและการผลิตเป็นหลัก ขณะที่ แผนของทรัมป์มุ่งเป้าไปที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยมีอัตราการลงโทษที่ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับภาษีศุลกากรในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เช่น โควตาและมาตรฐานการกำกับดูแลด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นผล และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองนโยบายก็คล้ายกัย เพราะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้จากต่างประเทศ อย่างที่จีนได้ประกาศภาษีตอบโต้สินค้าของสหรัฐฯ ร้อยละ 34 ไปแล้ว จึงมีสถานการณ์จึงมีลักษณะของสงครามการค้าสมัยใหม่ ที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 

แต่หากถึงวันดีเดย์ บังคับใช้กฎหมายที่ทรัมป์ประกาศเมื่อไหร่ เราคงต้องจับตาดูกันว่า จะกระทบทุกภาคส่วน และเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหนกัน


avatar

กรุณพร เชษฐพยัคฆ์

แท็กบทความ

นโยบายขึ้นภาษี
กำแพงภาษีทรัมป์สงครามการค้า
Smoot Hawley
วิกฤตเศรษฐกิจ