เวียดนามร้องทรัมป์เลื่อนใช้ภาษีออกไปอีก 45 วัน ขณะที่หลายประเทศอาเซียนไม่ขอตอบโต้สหรัฐฯ​

สำนักข่าว AFP และ The New York Times เปิดเผยว่าประธานาธิบดีโต เลิม ของเวียดนามได้ร้องขอไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ให้เลื่อนการบังคับใช้ภาษีครั้งใหม่กับเวียดนามในอัตรา 46 เปอร์เซ็นต์ ออกไปอีก 45 วันนับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนเป็นต้นไป เพื่อเปิดทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวใดใดก็ตามที่จะเป็นการทําลายเศรษฐกิจของเวียดนาม รวมไปอาจเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 เมษายน) เพิ่งมีรายงานว่าผู้นำเวียดนามได้ต่อสายตรงหารือกับทรัมป์ ว่าเวียดนามยินดีจะยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 0 เปอร์เซ็นต์เพื่อบรรเทาความร้อนแรงจากมาตรการภาษีครั้งใหม่ รวมไปถึงทางการเวียดนามยังได้ส่ง รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “โฮ ดึ๊ก ฟุค” เยือนสหรัฐฯ เพื่อไกล่เกลี่ยมาตรการภาษีกับตัวแทนฝั่งสหรัฐฯ ด้วย

เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอัตราภาษีในระดับที่สูงเป็นลำดับที่สามรองจากัมพูชาในอัตรา 49 เปอร์เซ็นต์ และ ลาวในอัตรา 48 เปอร์เซ็นต์ สร้างความกังวลให้กับทางการเวียดนามว่าการแข่งขันกับกำแพงภาษีที่สูงเช่นนี้อาจเป็น “อันตราย” ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทรัมป์อ้างว่าเวียดนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ฝั่งเวียดนามออกมาโต้ว่าไม่เป็นความจริง

เวียดนามร้องทรัมป์เลื่อนใช้ภาษีออกไปอีก 45 วัน ขณะที่หลายประเทศอาเซียนไม่ขอตอบโต้สหรัฐฯ​

สรุปข่าว

เวียดนามร้องทรัมป์ขอ “เลื่อน” บังคับใช้ภาษีออกไปอีก 45 วัน หลังจากยอมถอยยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ในขณะที่หลายประเทศอาเซียนเลือกที่จะไม่โต้ตอบสหรัฐฯ เพื่อเสถียรภาพในระยะยาว

เวียดนามมองว่าสหรัฐฯ อยู่ในฐานะป้อมปราการของเวียดนามที่สําคัญต่อจีน รวมไปถึงเวียดนามยังเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศโดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายและรองเท้าจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อาทิ Adidas และ Nike ที่ล้วนผลิตและส่งออกมาจากเวียดนามมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ The New York Times รายงานว่ากำแพงภาษี 46 เปอร์เซ็นต์จากสหรัฐฯ จะทําให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เวียดนาม ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ในความเสี่ยง แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะยืนยันที่จะยังคงเป้าหมายในการเติบโตของ GDP ที่ 8 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อรักษาสถานะรายได้ปานกลางของประเทศเอาไว้

นอกจาก เวียดนามแล้วทางฝั่ง “กัมพูชา” ก็ยินดีที่จะลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จาก 35 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์และพร้อมเจรจา เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่สนับสนุนทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาก็เป็นแหล่งผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ดังของสหรัฐฯ อย่าง Nike ด้วยเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกันกับ อินโดนีเซีย อีกหนึ่งแหล่งส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าผ้าใบรายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ และหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งประกาศว่าจะ “ไม่ตอบโต้” มาตรการภาษีของทรัมป์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่าอินโดนีเซียได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานตลอดจนความปรารถนาที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศและรักษาบรรยากาศการลงทุน ขณะเดียวกันในวันนี้ (7 เมษายน) รัฐบาลอินโดนีเซียจะรวบรวมข้อมูลจากภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อกําหนดกลยุทธ์จัดการกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และจะหาวิธีเพิ่มการค้ากับประเทศในยุโรปเพื่อเป็นทางเลือกอีกด้วย

ทั้งนี้ แนวทางการไม่โต้ตอบสหรัฐฯ เป็นนโยบายที่หลายประเทศเลือกใช้ เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย รวมไปถึง ออสเตรเลียด้วย ที่พยายามหาทางออกด้วยการเจรจา แทนการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

ที่มาข้อมูล : WSJ / BBC / The Straits Times

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

ฑิตยา เที่ยงกมล