
ผ่านไปไม่กี่วัน นับแต่วันที่ 2 เมษายนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทน 10-49% กับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจอโจทย์หนักสุด เพราะถูกกำหนดอัตราภาษีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และเมียนมา
บางประเทศขยับตัวเร็ว เร่งติดต่อเข้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมเสนอเงื่อนไขการลดภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันของตนเอง เพื่อหวังว่า จะเลี่ยง หรือลดอัตราภาษี ที่จะบังคับใช้ 9 เมษายนนี้
แม้แต่ประเทศที่เจอภาษีต่ำสุดเอง ก็ตื่นตัวเตรียมมาตรการรับมืออนาคตที่ไม่แน่นอนของยุคทรัมป์ด้วย
ประเทศไหนทำอะไรไปแล้วบ้าง ประเทศไทยทำอะไรอยู่ มาดูกัน

สรุปข่าว
3 เมษายน
นายกรัฐมนตรีฟาม มิน ชินห์ ของเวียดนาม จัดประชุมคณะรัฐมนตรีเร่งด่วน
ผู้นำเวียดนามกล่าวว่าภาษี 46% ที่เวียดนามโดนเก็บ ไม่ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ เขากล่าวด้วยว่าเวียดนามจะยังคงเป้าหมายในการเติบโตของ GDP ที่ 8 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าภาษีของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ
4 เมษายน
โต แลม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เข้าเจรจากับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“เวียดนามอยากลดภาษีสินค้าอเมริกาเหลือศูนย์ หากทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้ (เพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ)” ทรัมป์ กล่าวถึงคำพูดของ โต แลม ที่ได้พูดคุย
5 เมษายน
ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ชี้ “สงครามการค้าโลกได้ก่อตัว ยุคของการค้าเสรีจบสิ้นแล้ว แม้ว่าสิงคโปร์ได้รับอัตราภาษีขั้นต่ำที่สุด แต่เราตื่นตัวกับผลกระทบในภายหน้าเสมอ”
แม้สิงคโปร์จะเจอกำแพงภาษีที่ต่ำที่สุดก็ตาม หว่องยอมรับว่าผลกระทบโดยตรงอาจมีจำกัดในขณะนี้ แต่ผลกระทบในวงกว้างนั้นน่ากังวลยิ่งกว่ามาก
นอกจากนี้ หว่องยังเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “สงครามการค้าโลก” เนื่องจากหลายประเทศอาจใช้มาตรการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรง แม้ว่าสิงคโปร์จะตัดสินใจไม่ใช้มาตรการตอบโต้ก็ตาม โดยที่โลกในตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นผลเสียต่อกับชาติเล็ก ๆ อย่างเช่นสิงคโปร์
วันเดียวกัน ฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ชี้ “ขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการดำเนินมาตรการภาษี เปิดทางเจรจาต่อรองถึงภาษีต่อกัมพูชา 49% สูงสุดในอาเซียน กัมพูชายินดีลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ 19 ประเภท จาก 35% เหลือ 5%”
ฮุน มาเน็ต ยังมอบหมายรัฐมนตรีพาณิชย์กัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจาและเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับผู้แทนของสหรัฐฯ
ฮุน มาเน็ต กล่าวด้วยว่า การเพิ่มภาษีนําเข้าสินค้าของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ขาดทุนอย่างมากจากการนําเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาจากการขาดดุลการค้า ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
ข้ามมาที่มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เผย “ผมได้ติดต่อบุคคลใกล้ชิดกับโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา ได้รับสายจากมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าเจรจา”
ขณะที่ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “ผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ นั้นน้อยนิด ฟิลิปปินส์เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ไม่ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร แต่ฟิลิปปินส์จะตอบโต้อย่างเหมาะสมที่สุด”
ไทม์ไลน์ของประเทศไทย
3 เมษายน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงท่าทีไทยต่อมาตรการภาษีสหรัฐฯ อย่างชัดเจนและมองการณ์ไกล ท่ามกลางประกาศขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% ต่อทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งสำหรับไทยนั้น ถูกตั้งอัตราภาษีไว้สูงถึง 37% โดยจะมีผลตั้งแต่ 9 เมษายนเป็นต้นไป
ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คณะทำงานได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียม “ข้อเสนอที่มีน้ำหนักพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจเข้าสู่โต๊ะเจรจากับไทย” โดยหวังให้เกิดการปรับดุลการค้าที่กระทบต่อผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภคน้อยที่สุด
6 เมษายน
อันวาร์ หัวขบวนใหญ่ผนึกกำลังอาเซียน
อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย และในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เปิดเผยว่ากับ Free Malaysia Today ได้พูดคุยกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อหามติร่วมกัน และเขาเองวางแผนจะหารือกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อผนึกเสียงเข้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ
อันวาร์ ย้ำว่า มาเลเซียนั้นทนต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ได้ หากชาติอาเซียนรวมใจและผนึกกำลังกันทัดทานนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ
“อาเซียนต้องเข้มแข็ง เราต้องไม่ทำอะไรผลีผลาม เพราะยังคาดเดาไม่ได้ว่าภาษีตอบโต้นี้จะไปในทิศทางไหน... แต่มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เพียงลำพัง ไม่แข็งแกร่งพอ เราต้องรวมพลังกันเพื่อเจรจา ให้เห็นเอกภาพของเรา”
วิเคราะห์ท่าทีทรัมป์กรณีเจรจากับเวียดนาม
ความพร้อมของทรัมป์ที่ยอมเจรจากับเวียดนามที่เจอภาษีตอบโต้ถึง 46% ทำให้เอเอฟพีวิเคราะห์ว่า สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์เอง
ย้อนไปสมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งครั้งแรก เวียดนามก้าวกระโดดสู่เขตเศรษฐกิจที่เป็นที่จับตา ด้วยภูมิศาสตร์ และแรงงานค่าแรงค่อนข้างต่ำ จนกลายเป็นฐานการผลิตทางเลือกสำหรับทั้งโลก ที่อาจต้องการเบนเข็มออกมาจากจีน ในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
หลายบริษัทเอง ได้ย้ายฐานการผลิตและซัพพลายเชนของตนเอง ไปยังเวียดนาม ทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อเวียดนาม ขยายตัวเป็น 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2017 - 2023
ที่มาข้อมูล : TNN Online
ที่มารูปภาพ : Reuters

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล