
เรียกได้ว่า เป็นคดีใหญ่ของประเทศไทย เมื่อมีการเปิดโปง และทลายขบวนการทุจริตยา รพ.ทหารผ่านศึก ด้วยการเบิกยาให้กับคนไข้ปลอม แล้วนำไปขายที่ตลาดมืด โดยคาดว่า มูลค่าความเสียหายพุ่งสูงถึง 80 ล้านบาท
คดีการฉ้อโกง โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ของคนไข้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น
วันนี้ เราจะพาไปย้อนฟังคดีดังจากทางอเมริกา เมื่อหมอเห็นแก่กำไรมากกว่าชีวิตคนไข้ ด้วยการหลอกให้รักษาโรคมะเร็ง โดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นโรคนี้จริง ๆ
แฉหมอหลอกรักษามะเร็งปลอม
เรื่องราวนี้ ต้องย้อนไปช่วงปี 2013 เมื่อแพทย์คนหนึ่ง ประจำคลินิกโลหิตวิทยา และมะเร็งวิทยา ที่มิชิแกน กลับต้องประหลาดใจ เมื่อคนไข้รายหนึ่งเข้ามารับการบำบัดเคมี เพื่อรักษาโรคมะเร็ง ที่คลินิก ทั้งที่มีผลสุขภาพดีอยู่แล้ว
ด้วยความสงสัย เขาจึงทำการขุดค้นข้อมูล และพบว่า คนไข้รายดังกล่าว อยู่ในการดูแลของ ฟาริด ฟาตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และเป็นเจ้าของคลินิกเห็นนี้ ซึ่งตอนนั้น เขาอยู่ระหว่างการพักร้อนที่เลบานอน
จากการขุดค้นประวัติการรักษา เขาพบว่า ผลทดสอบของคนไข้ที่เข้ามารับคีโมวันนั้น ไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ที่บอกว่า เธอจำเป็นต้องรับการรักษาโรคมะเร็ง แล้วเมื่อยิ่งขุดค้นเข้าไปอีก เขาก็พบว่า มีคนไข้รายหลายในความดูแลของหมอฟาตา ที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งที่ตนเองมีสุขภาพดี
ต่อมา เจ้าหน้าที่คนอื่นในคลินิกเริ่มสงสัยในตัวหมอฟาตามากขึ้น จึงรวบรวมหลักฐาน และรายงานเรื่องนี้ ต่อ FBI
หลังจาก FBI ได้รับเรื่องไม่นาน พวกเขาก็ทำการจับกุมหมอฟาตา ด้วยข้อหาฉ้อโกงการรักษาพยาบาล

สรุปข่าว
ทำไปเพื่อ “เงิน”
แรงจูงใจที่ทำให้หมอคนนี้ ต้องวินิจฉัยโรคแบบผิด ๆ และรักษาคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของเขาโดยไม่จำเป็น เหตุผลหลักง่าย ๆ ก็คือ “เงินจากประกันสุขภาพ”
หมอฟาตามีคลินิกที่เป็นเจ้าของทั้งหมด 7 แห่ง ทั่วมิชิแกน และมีคนไข้อยู่ในความดูแลราว 1,700 คน นอกจากนี้ เขายังก่อตั้งองค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจึงทำให้เขาดูเหมือน หมอใจบุญ ผู้ทุ่มเทช่วยเหลือผู้ป่วย
แต่ในความเป็นจริง หมอฟาตากลับดำเนินธุรกิจด้วยการฉ้อฉลครั้งใหญ่ ด้วยการวินิจฉัย และรักษาโรคผิด ๆ ให้กับคนไข้ พร้อมเรียกเก็บเงินจากประกันสุขภาพทั้งของรัฐ และเอกชน มูลค่ารวม 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,100 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังรับเงินจากบริษัทสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย
จาก “หมอ” สู่ “นักโทษ” คดีฉ้อโกง
หมอฟาตา ได้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อใจของคนไข้ที่มีต่อหมอ และผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลร้ายแรงต่อผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของเขาหลายคน
โดยมีคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของเขาราว 533 คน ที่ได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น รวมถึงใช้วิธีการรักษาที่ไม่ปลอดภัย คนไข้บางรายได้รับคีโมมาเป็นเวลาหลายปี บางคนสุขภาพแย่ลง และถึงขั้นเสียชีวีต
คดีนี้ เรียกได้ว่า เป็นคดี ที่แสดงให้เห็นถึงการละเมิดจริยธรรมทางการแพทย์ที่ร้ายแรงสุดคดีหนึ่งของสหรัฐฯ หนำซำ้ยังละเมิดความไว้วางใจที่คนไข้มีต่อแพทย์ด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อปี 2015 ศาลตัดสินให้หมอฟาตามีความผิด จากข้อหาฉ้อโกงระบบประกันสุขภาพ 13 กระทง รับสินบน 1 กระทง และฟอกเงิน 2 กระทง
สั่งจำคุกทั้งหมด 45 ปี และต้องคืนเงินให้กับ Medicare และบริษัทประกันสุขภาพ ราว 17.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 596 ล้านบาท
คดีนี้ ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อปกป้องการฉกฉวยผลประโยชน์จากคนไข้ และพูดถึวความรับผิดชอบทางจริยธรรมของบุคคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปรึกษาแพทย์คนอื่น เกี่ยวกับแผนการรักษา โดยเฉพาะกับโรคร้ายอย่าง มะเร็ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
ที่มาข้อมูล : NBC News, ABC News, Independent, Detroit News
ที่มารูปภาพ : MHO, Freepik

พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์