
ฝ่ายค้านเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร” ชี้ประเด็นคุณสมบัติ ความเหมาะสม และการบริหารราชการแผ่นดิน
วันที่ 24 มีนาคม 2568 ณ อาคารรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภาอีก 165 คน จากพรรคประชาชน พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายณัฐพงษ์ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ญัตติดังกล่าวเกิดจากข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์การบริหารราชการแผ่นดิน และประเด็นด้านคุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายค้านเห็นว่าการเสนอญัตติครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และเป็นกระบวนการตรวจสอบตามหลักของระบอบประชาธิปไตย

สรุปข่าว
ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยระบุว่า หลังการเลือกตั้งปี 2566 ประชาชนมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมาในช่วงหลายปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการบริหารงานที่ผ่านมา ฝ่ายค้านเห็นว่ายังมีหลายประเด็นที่สมควรได้รับการอภิปรายในที่ประชุมสภา
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านกล่าวถึง คือ เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี โดยนายณัฐพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีควรมีความพร้อมทั้งในด้านวุฒิภาวะ ความรู้ ความเข้าใจในการกำหนดนโยบาย และความสามารถในการประสานงานด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่ายังมีข้อสงสัยในหลายมิติ
อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นอภิปราย คือ ลักษณะการดำเนินนโยบายที่ฝ่ายค้านมองว่า มีการให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคลใกล้ชิด หรือครอบครัวเป็นหลัก อันอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งว่า มีลักษณะของการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทางการเมือง และบุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งในทางราชการ
ฝ่ายค้านยังเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับทิศทางการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ขณะที่นโยบายสำคัญหลายประการยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และมีบางโครงการที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ในด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การเกษตร และราคาพลังงาน ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่า ประชาชนจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพ และสภาพแวดล้อมที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือปัญหาค่าไฟฟ้า โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและแสดงบทบาทเชิงรุกในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร
ฝ่ายค้านยังหยิบยกประเด็นการปฏิรูปกองทัพและการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นอภิปราย โดยระบุว่า ประชาชนมีความคาดหวังในเรื่องเหล่านี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจส่งผลต่อการผลักดันนโยบายในสภา
ด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการดำเนินคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแสดงบทบาทเชิงรุกในการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับสิทธิพิเศษในการรักษาตัวและการลดโทษ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม
ในช่วงท้ายของการอภิปราย ผู้นำฝ่ายค้านสรุปว่า การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้เจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงต่อสภาอย่างชัดเจน
“ฝ่ายค้านไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมือง หากแต่ต้องการสะท้อนเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังเผชิญกับปัญหาปากท้อง ความไม่เท่าเทียม และความไม่มั่นใจในอนาคตของประเทศ การอภิปรายครั้งนี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ และหวังให้รัฐบาลรับฟังข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการบริหารประเทศต่อไป” นายณัฐพงษ์กล่าวปิดท้าย

ยศไกร รัตนบรรเทิง
เบน