
ประเทศได้มี ส.ว.ชุดใหม่มาได้กว่าครึ่งปีแล้ว และ ส.ว.เองก็เริ่มทำงานในสภาแล้วด้วย แต่ทำไมประเด็นการฮั๊ว ส.ว.ถึงมีการถูกพูดถึงตอนนี้ ? การฮั๊ว ส.ว.คืออะไร ? แล้วตอนนี้มีหลักฐานอะไรถูกเปิดออกมาแล้วบ้าง ?
ประเด็นการฮั้ว ส.ว. มากจากไหน ?
ประเทศไทย มีการเลือกตั้ง สว.ระหว่างวันที่ 9–26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 และมีการประกาศผลเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีระบบวิธีการเลือกกันเองของประชาชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 20 กลุ่ม ใน 3 ระดับ คือระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จนได้ สว. จำนวน 200 คน
หลังการเลือกตั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรม 3 คำร้อง เกี่ยวกับให้ตรวจสอบการคัดเลือก ส.ว. ไปถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิก สว.
ภายหลัง ในเดือน กันยายน 2567อธิบดี DSI ได้อนุมัติให้ดำเนินการสืบสวนประเด็นนี้ และในปลายเดือนมกราคม ได้แจ้งความคืบหน้าการสืบสวน หรือเอกสารลับไปยังประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

สรุปข่าว
ในเอกสารลับมีอะไรบ้าง ?
จากหลักฐานในเอกสารลับของ DSI เปิดเผยว่าพบ "ขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล" ที่มีเครือข่ายซึ่งปกปิดวิธีการ มีการวางแผนอย่างสลับซับซ้อน โดยจัดการให้มีผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีการจ่ายค่าตอบแทนตั้งแต่ 5,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท และระดับประเทศ จำนวน 40,000-100,000 บาท และถ้าได้สมาชิกวุฒิสภามากกว่า 120 คน จะได้เพิ่ม จำนวน 100,000 บาท
ที่น่าสนใจคือการค้นพบ "โพยฮั้ว" จำนวน 2 ชุด ที่ระบุหมายเลขผู้สมัครกลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน และผลการเลือกสว.ในรอบเช้าและรอบไขว้ "เป็นไปตามโพยฮั้วทุกประการ"
โดยมีการจัดทำโพยฮั้วในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก รวมถึงมีการแจกเสื้อสีเหลืองและจัดรถตู้นำผู้สมัครไปเมืองทองธานี
DSI พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2563 มาตรา 977 (3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542
ใครมีอำนาจสืบสวน แต่ละฝ่ายมองอย่างไร ?
หลัง DSI ส่งเอกสารให้ กกต. เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2567 ตัวแทนผู้สมัคร สว.กว่า 40 คน ที่มีทั้งกลุ่ม สว. สำรอง ผู้สมัคร สว. อื่นๆ ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดี DSI ให้ตรวจสอบเรื่องฮั้วโหวต เพราะมองว่า ที่ผ่านมาได้นำข้อมูล และพยานหลักฐาน มอบให้กกต. แต่มีการทำงานที่ล้าช้า จึงของให้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ
ขณะที่ ด้าน สว.มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ออกมายืนยันว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. พร้อมระบุว่า "สว.เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขและระเบียบที่ กกต.กำหนด" และมองว่าการสอบสวน เป็นการที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงที่มานิติบัญญัติ
ด้าน DSI ก็ยืนยันว่า "ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ" เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมคำนวณคะแนน
ขณะที่พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ว่า ทาง DSI ต้องรับเป็นคดีเพราะมีการร้องเรียนมา และหากสำนวนคดีไหนเกี่ยวกับ ป.ป.ช. ทาง ก.ก.ต.ก็ต้องให้หน่วยงานดังกล่าวรับไป
คดีจะไปทิศทางไหน ?
วงประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันอังคาร (25 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม จะเป็นสนามแห่งการตัดสินใจที่สำคัญ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน และพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธาน
ตามระเบียบวาระการประชุม ดีเอสไอได้บรรจุเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 "กรณีร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567" เข้าสู่การพิจารณา โดยต้องใช้มติเสียง "ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3" ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ
หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะความชอบธรรมของวุฒิสภาทั้งองค์กร การตั้งข้อหาร้ายแรงอย่างความผิดฐานอั้งยี่และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ อาจนำไปสู่การเพิกถอนสถานภาพ สว. จำนวนมาก และอาจต้องมีการทบทวนระบบการได้มาซึ่ง สว. ทั้งระบบ
ที่มาข้อมูล : TNN เรียบเรียง
ที่มารูปภาพ : วุติสภา

กรุณพร เชษฐพยัคฆ์