
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกกต. ที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ลงนามคำวินิจฉัย กกต. ยกคำร้อง กรณีผู้ร้องยื่นร้องนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. โดยอ้างว่าก่อนการประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เลขาธิการกกต. หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่
ซึ่งกกต.ได้พิจารณารายงานสืบสวนตลอดจนหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ได้ความว่า ผู้ยื่นคำร้องให้ถ้อยคำว่า “ผู้ถูกร้องหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยปปล่อยปละละเลยให้กลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองหรือเคยเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกเป็น สว. ครั้งนี้ ซึ่งในการเลือกระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ได้เห็นผู้มีสิทธิ์เลือก เลือกทุกกลุ่มสวมเสื้อสีเหลือง และได้ตรวจสอบข้อมูลการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.3 ของกลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ฯ
ส่วนในประวัติทำงานหรือประสบการณ์ทำงานในกลุ่มที่สมัครไม่ปรากฏหลักฐานชื่อชัดว่าผู้สมัครกลุ่มดังกล่าวนั้น เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ โดยได้นำข้อมูลการลงคะแนนที่ได้บันทึกไว้มาจัดเรียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และใช้หลักจิตวิทยาในการวิเคราะห์
โดยผู้มีสิทธิ์เลือกจะลงคะแนนเลือกให้แก่ตนเองก่อน จึงทราบว่าเป็นบัตรลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกคนใด ซึ่งข้อมูลบางส่วนเป็นการลงคะแนนเป็นชุด หลายรายจึงไม่อาจระบุได้ว่าเป็นบัตรลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกคนใด และผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. มาตรา 32

สรุปข่าว
จากการสอบสวนในข้อเท็จจริงเป็นหนังสือว่าในวันรับสมัครเลือก สว. ผู้อำนวยการเรื่องระดับประเทศ เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่า ผู้สมัครต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้สมัครต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ขณะเดียวกันสำนักงาน กกต. ได้กำหนดมาตรการควบคุมการเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตั้งแต่แต่งตั้งชุดปฏิบัติการข่าว ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอจนถึงระดับประเทศ จัดให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนชุดปฏิบัติการข่าว สั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดลงพื้นที่สังเกตการณ์ กำหนดมาตรการป้องกันเพิ่มเติม 5 ข้อ
ซึ่งจากสืบสวนหาข่าวไม่พบว่ามีแหล่งข่าวหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากลุ่มการเมืองได้จัดตั้งหรือส่งกลุ่มบุคคลมาสมัครรับเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ส่วนกรณีการแต่งกายของผู้มีสิทธิ์เลือกที่จะสวมใส่ที่มีเสื้อสีเดียวกัน ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกกระทำการดังกล่าว
เห็นว่าข้อเท็จจริงจากการสืบสวนรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ยื่นคำร้องและให้ถ้อยคำว่าในวันเลือกระดับประเทศได้เห็นผู้มีสิทธิ์เลือกทุกกลุ่มสวมเสื้อสีเหลือง และได้ตรวจสอบข้อมูลแนะนำตัวของกลุ่มที่ 13 ในส่วนประวัติการทำงานหรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่สมัครไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงได้ว่าผู้สมัครในกลุ่มดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเป็นกลุ่มซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ
ซึ่งตามข้อมูลที่ผู้ร้องอ้างอิง เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ของผู้ร้องและการตรวจสอบสถานะภาพสมาชิกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิ์เลือกระดับประเทศในกลุ่ม 13 จำนวน 147 คน ไม่พบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และประเด็นที่ผู้มีสิทธิ์เลือกได้สวมเสื้อที่มีสีเดียวกัน ก็ไม่ได้มีกฎหมายระเบียบห้ามการกระทำดังกล่าวอีกทั้งถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลในการแต่งกาย
ประกอบกับการเลือก สว. ครั้งนี้ เลขาธิการกกต. ผู้ถูกร้องได้กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมการเลือก การนับคะแนน การรายงานผลนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า เลขาธิการ กกต. ในฐานะผู้ถูกร้อง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเลือกเป็นไปตามกฎหมาย หรือตามรัฐธรรมนูญ หรือมีการจัดตั้งหรือส่งกลุ่มบุคคลมารับสมัครเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด
อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เลขาธิการกกต. กระทำการเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 มาตรา 32 ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ที่มารูปภาพ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)