นอนน้อย-ดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยง ลมชักกำเริบ ?

แพทย์หญิงกฤติมา อัศววีระเดช นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา ชี้แจงว่า การนอนน้อยและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลต่อสารสื่อประสาทบางอย่าง ทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้นเป็นเรื่องจริง  โดยแนะนำว่า ผู้ป่วยควรจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก ในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือระหว่างมีประจำเดือน อาจจะมีอาการชักได้มากกว่าปกติ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน บางคนอาจได้รับคำแนะนำให้กินยาเสริมช่วงที่ก่อนมีประจำเดือน หรืออาจจะต้องกินยาฮอร์โมน เนื่องจากอาการชักอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งในประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดว่าผู้ป่วยลมชัก ที่จะสามารถทำใบขับขี่ ประเภทบุคคลธรรมดาได้ จะต้องคุมอาการชักให้ได้อย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อคุมอาการชัก ด้วยการทานยาสม่ำเสมอ หรือการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วแต่กรณี
นอนน้อย-ดื่มแอลกอฮอล์  เสี่ยง ลมชักกำเริบ ?

สรุปข่าว



ส่วนโรคลมชัก เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้หรือไม่ ? 

คุณหมอชี้แจงว่า มีรายงานพบว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยคุมอาการชักไม่ได้ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ แต่จะเจอในผู้ป่วยที่ชักเกร็งกระตุก ควบคุมไม่ได้ และมีอาการชักบ่อย โดยเฉพาะเวลาอยู่คนเดียว เพราะหากเกิดเหตุ อาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องรับการรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การกินยาอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดอาการชัก 



เขียนข่าว

เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ 

ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?








ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : ภาพจาก getty images ช่างภาพTNN ช่อง16