หุ่นยนต์ก่อสร้าง แรงงานพันธุ์ใหม่ ลดต้นทุนพร้อมสร้างอาคารไวขึ้น

สถาบันเทคโนโลยีจากอิตาลี ทดสอบต้นแบบของหุ่นยนต์ก่อสร้างในสถานที่ทำงานจริง โดยทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์ เพื่อช่วยแบ่งเบาหน้าที่การขุดเจาะ การขัด การทาสี และการช่วยขนของหนัก เพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้า และลดต้นทุนในการใช้แรงงานไปได้มากขึ้น

หุ่นยนต์ก่อสร้าง แรงงานพันธุ์ใหม่ ลดต้นทุนพร้อมสร้างอาคารไวขึ้น

สรุปข่าว

สถาบันในอิตาลีมุ่งเป้าการพัฒนาหุ่นยนต์เกี่ยวกับการก่อสร้างโดยเฉพาะ จุดเด่นคือสามารถปรับอุปกรณ์ของตัวหุ่นยนต์ให้เหมาะกับงานประเภทต่าง ๆ ได้ เพื่อช่วยทุ่นแรงงานมนุษย์

แพลตฟอร์มหุ่นยนต์ที่ว่านี้ มีชื่อว่า คอนเสิร์ต (CONCERT) พัฒนาโดยห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์และเมคคาทรอนิกส์ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิตาลี (IIT - Istituto Italiano di Tecnologia) โดยเป็นแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ติดตั้ง และคำสั่งที่ได้รับ 


โครงสร้างและแขนหุ่นยนต์ คอนเสิร์ต (CONCERT) รองรับการกำหนดค่าใหม่ได้ขึ้นอยู่กับงาน ซึ่งหมายความว่าเราจะสามารถย้ายหุ่นยนต์ไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการทำงานอัตโนมัติ ให้หุ่นยนต์ทำงานเองได้ ภายในสถานที่ก่อสร้าง โดยอาศัยมนุษย์ควบคุมเพียงเล็กน้อย เพื่อมาช่วยลดการทำงานซ้ำ ๆ ของผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมนุษย์


ทางทีมพัฒนาระบุว่า หุ่นยนต์ยังสามารถปรับการตั้งค่าความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุก และระดับแรงที่จะใช้ในการทำงาน เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในระหว่างการปฏิบัติงานก่อสร้างได้ ขณะเดียวกันก็ให้ความยืดหยุ่นกับการใช้งานจริง ด้วยคุณสมบัติที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้เครื่องมือประเภทต่าง ๆ สำหรับงานก่อสร้างที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องมือเจาะ การพ่น การทาสี เครื่องมือขัด และมือจับที่จำเป็นสำหรับการขนส่งวัสดุ


ตัวหุ่นยนต์ยังมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่แตกต่างกันจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม เริ่มตั้งแต่เซ็นเซอร์ตรวจจับการมองเห็น เซ็นเซอร์การวัดระยะ และกล้อง รวมถึงเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก เพื่อตรวจจับการมีอยู่หรือการเข้าใกล้ของผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมนุษย์ ซึ่งอาจกำลังทำงานหรือเคลื่อนที่ใกล้กับหุ่นยนต์

สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์มหุ่นยนต์นี้ คือการเปลี่ยนจากหุ่นยนต์ใช้งานทั่วไปในปัจจุบัน ให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์เพื่องานก่อสร้างได้อย่างปลอดภัย โดยทางทีมพัฒนาตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนงานที่หุ่นยนต์สามารถทำได้ ให้มากขึ้นในอนาคต


ข้อมูลจาก

https://www.reutersconnect.com/all?channel=mUo350&id=tag%3Areuters.com%2C2025%3Anewsml_RW215617022025RP1%3A4&media-types=vid

ที่มาข้อมูล : IIT / Reuters

ที่มารูปภาพ : IIT / Reuters