สืบพันธุ์อันตราย ! หมึกตัวผู้ฉีดพิษก่อนผสมพันธุ์ ป้องกันไม่ให้ถูกตัวเมียกิน

นักวิทยาศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย ค้นพบพฤติกรรมที่น่าสนใจของ หมึกลายน้ำเงิน (Blue-lined octopus) โดยพบว่าหมึกตัวผู้ จะกัดตัวเมียเพื่อส่งสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาทเข้าไปในหลอดเลือดใหญ่ของหมึกตัวเมียก่อนการผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกกิน


สำหรับหมึกลายสีน้ำเงิน ตัวผู้สามารถโตได้ยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร หรือขนาดเทียบเท่าประมาณลูกกอล์ฟ  มักพบในแนวปะการังตื้นและแอ่งน้ำขึ้นน้ำลง มันถือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อันตรายที่สุดในท้องทะเล เนื่องจากมีพิษที่ร้ายแรง และมีผู้เสียชีวิตจากการถูกกัด ตามการรายงานของพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลีย

สืบพันธุ์อันตราย ! หมึกตัวผู้ฉีดพิษก่อนผสมพันธุ์ ป้องกันไม่ให้ถูกตัวเมียกิน

สรุปข่าว

นักวิทยาศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย ค้นพบพฤติกรรมที่น่าสนใจของ หมึกลายน้ำเงิน โดยพบว่าหมึกตัวผู้ จะกัดตัวเมียเพื่อส่งสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาทเข้าไปในหลอดเลือดใหญ่ของหมึกตัวเมียก่อนการผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกกิน

ทั้งนี้โดยปกติแล้วหมึกลายน้ำเงินตัวเมีย จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ประมาณ 2 - 5 เท่า และตัวเมียมักจะกินคู่ผสมพันธุ์ของตัวเองเพื่อสะสมพลังงานให้มากพอที่จะผลิตไข่และฟักไข่ได้ ทั้งนี้การกินคู่ผสมพันธุ์ของตัวเองขณะกำลังผสมพันธุ์ เป็นเรื่องปกติของสัตว์ในชั้นเซฟาโลพอดส์ (Cephalopods หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีจุดเด่นคือมีร่างกายสมมาตร มีหัวเด่น มีแขนหรือหนวด) รวมไปถึงเป็นพฤติกรรมในสัตว์อื่น ๆ ด้วย เช่น แมงมุม และตั๊กแตนตำข้าว 


หมึกตัวผู้ จะมีอวัยวะสำหรับผสมพันธุ์ที่เรียกว่า เฮคโตโคไทลัส (Hectocotylus) ลักษณะเป็นแขนสำหรับถ่ายโอนแคปซูลอสุจิเข้าไปในท่อนำไข่ของตัวเมีย ในหมึกสายพันธุ์อื่น ๆ จะวิวัฒนาการให้เฮคโตโคไทลัสมีขนาดที่ยาวขึ้น เพื่อให้รักษาระยะห่างระหว่างการผสมพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย แต่หมึกลายสีน้ำเงิน มีเฮคโตโคไทลัสที่ค่อนข้างสั้น จึงทำให้ต้องผสมพันธุ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นมันจึงได้วิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดขึ้นมา 


เวิน-ซุง จุง (Wen-Sung Chung) นักประสาทชีววิทยาสัตว์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้นำการวิจัยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ CNN ว่า “หมึกตัวผู้ได้วิวัฒนาการการใช้พิษที่เรียกว่า เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin หรือ TTX) เพื่อทำให้ตัวเมียเคลื่อนไหวไม่ได้” โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวผู้จะเข้าหาตัวเมียจากทางด้านหลัง และพยายามกัดตัวเมีย ในบริเวณเฉพาะที่จะส่งพิษ TTX ไปที่หลอดเลือดใหญ่ของตัวเมีย หลังจากนั้นตัวเมียจะมีสีซีดลง รูม่านตาจะไม่ตอบสนองต่อแสง และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้


การกระทำนี้ จะทำให้ตัวเมียเคลื่อนไหวไม่ได้ และหยุดหายใจเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทำให้ตัวผู้มีเวลาผสมพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย หลังจากนั้นไม่นาน ตัวเมียก็จะกลับมาเป็นปกติ 


ในการศึกษานี้ ไม่พบว่ามีตัวเมียที่ตายจากการถูกฉีดพิษดังกล่าว บ่งชี้ว่าตัวเมียมีคุณสมบัติบางประการที่สามารถต้านทาน TTX ได้

จุงกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการรายงานว่า หมึกลายน้ำเงินมีการใช้พิษในการผสมพันธุ์ ซึ่งโดยปกติมันมักจะใช้พิษในการล่าหรือการป้องกันตัวเอง 


จุงเรียกกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การแข่งขันทางอาวุธระหว่างเพศ” และกล่าวว่าพฤติกรรมนี้จะถูกถ่ายทอดผ่านยีนไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป เขายังกล่าวเสริมว่ากระบวนการนี้ถือเป็นทักษะการเอาตัวรอดรูปแบบหนึ่ง


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี (Current Biology) ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2025 


ที่มาข้อมูล

cel

edition

theguardian

ที่มาข้อมูล : cel edition theguardian

ที่มารูปภาพ : wikipedia