กระแสเหยียดเอเชียยังไม่ทุเลา หลังเกิดเหตุในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 76% ทำชาวเอเชียบอบช้ำทั้งร่างกาย-จิตใจ
ผลพวงโควิด-19 ทำอาชญากรรมจากกระแสเกลียดชังชาวเอเชีย ‘เพิ่มขึ้น 76%’ ในสหรัฐฯ แม้โควิดระบาดมานานแล้วก็ตาม
ความเกลียดชังยังไม่ลดลง
อาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย เพิ่มขึ้น 76% ในนครลอสแอนเจลิส เมื่อปีที่แล้ว สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง จากการทำร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
รายงานของคณะกรรมาธิการด้านมนุษยสัมพันธ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (20 ตุลาคม) ระบุว่า ในปี 2020 อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย เกิดขึ้นกว่า 44 ครั้งในเทศมณฑลลอสแองเจลิส
โดยกว่า 3 ใน 4 เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางร่างกาย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากในปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 58%
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มีนัยยะสำคัญ และเจ้าหน้าที่ควรทำงาน เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
‘ทรัมป์’ หนึ่งในแรงกระตุ้นเหตุเหยียดเอเชีย
ผู้สังเกตการณ์มองว่า ต้นตอมาจากถ้อยคำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น เขาเน้นย้ำถึงที่มาของโควิด-19 ว่ามาจากจีน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านชาวเอเชีย
รายงานระบุว่า 10 จาก 44 คดี ที่เกี่ยวกับการต่อต้านเอเชียของแอลเอ เคาน์ตี ผู้ต้องสงสัยต่างกล่าวโทษเหยื่อ ในประเด็นโควิด-19 อย่างโจ่งแจ้ง
หนึ่งในคดีความเกลียดชังที่อ้างถึงในรายงาน คือ ชายชาวจีนกำลังรออยู่ที่ป้ายรถเมล์ ขณะที่ผู้หญิงผิวขาวคนหนึ่ง เริ่มตะโกนต่อว่า ก่อนจะข้ามถนนไปต่อยหน้าชายคนดังกล่าวถึงสามครั้ง
อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ ชายชาวญี่ปุ่นกำลังคุยโทรศัพท์ในลานจอดรถ ขณะชายสัญชาติลาตินถือมีดขนาดใหญ่เดินเข้ามาถามว่า เขาเป็นชาวเอเชียหรือไม่ และสั่งให้ชายญี่ปุ่นถอดแว่นกันแดดออก เพื่อให้เห็นดวงตาว่าคนเป็นชาติใด จากนั้นผู้ก่อเหตุพยายามแทงเหยื่อ ก่อนถูกจับกุมในที่สุด
เจ็บช้ำทางร่างกาย ปวดร้าวทางจิตใจ
อัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่า เมื่อปีที่แล้ว อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในแคลิฟอร์เนีย โดยสิ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ การทำร้ายร่างกายและการข่มขู่
หลังเกิดการโจมตีอย่างรุนแรง ต่อผู้สูงอายุชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียทั่วประเทศ อาสาสมัครได้จัดตั้งหน่วยลาดตระเวนในโอ๊คแลนด์ ไชน่าทาวน์ และชุมชนเอเชียในย่านอื่น ๆ ของสหรัฐฯ
จากการศึกษา 16 เขตทั่วประเทศ พบว่า มีรายงานอาชญากรรมความเกลียดชังต่อชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 164% ในไตรมาสแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วนผลวิจัยโดยศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง ที่เมืองซานเบอร์นาดิโน ในแคลิฟอร์เนีย พบว่า เกิดเหตุดังกล่าวในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 223%, รองลงมาคือ ซานฟรานซิสโก 140%, ลอสแอนเจลิส 80% และบอสตัน 60%
เผชิญกระแสเกลียดชังในทุกเพศทุกวัย
รายงานของ Stop AAPI Hate กลุ่มที่ติดตามการต่อต้านชาวเอเชีย แสดงให้เห็นถึงขอบเขตของการต่อต้านการเหยียดเอเชียทั่วประเทศ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
โดยเหยื่อบางคนเป็นผู้สูงอายุ, บางคนเป็นเด็ก, บางคนถูกไอหรือถ่มน้ำลาย, บางคนถูกตบหรือตี, บางคนถูกปฏิเสธการให้บริการ, บางคนเผชิญกับคำพูดเหยียดผิว หรือ โดนปฏิเสธที่จะสนทนาด้วย
Stop AAPI Hate ไม่เพียงติดตามอาชญากรรมความเกลียดชังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์ความเกลียดชัง ซึ่งไม่ถึงขึ้นขั้นเป็นอาชญากรรม และมักเกี่ยวข้องกับการเรียกชื่อหรือการดูถูก
รายงานยังระบุว่า ในแอลเอเคาน์ตี จำนวนเหยื่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง หญิงชาวเอเชีย-อเมริกัน เพิ่มขึ้นสามเท่าจากห้าปีที่แล้ว เป็น 15 คน
ดินแดนแห่งเสรีภาพจริงหรือ?
เหตุอาชญากรรมทางเชื้อชาติในปี 2019 นั้น ยังไม่มีเหยื่อที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนในปี 2020 เหยื่อครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า 40 ปี รวมถึงผู้สูงอายุอีก 2 คน
ในกรณีที่ระบุผู้กระทำความผิดได้ พบว่า เป็นคนผิวขาว 42%, คนลาติน 36% และ 19% เป็นคนผิวดำ
ขณะที่ 25% ของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย เกิดขึ้นในเมืองลอสแอนเจลิส และส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่เซาท์เบย์
คณะกรรมการมนุษยสัมพันธ์ รวบรวมรายงานเหตุการณ์ที่อาจเกิดจากความเกลียดชัง ผ่านหมายเลขสายด่วน 211 และทางเว็บไซต์ ซึ่งได้รับรายงานประมาณ 1,400 ครั้ง ตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2020
กระแสเกลียดชังเอเชียยังไม่มีทางออก
ฟิลลิส เกอร์สเตนเฟลด์ ประธานแผนกความยุติธรรมทางอาญาที่ Cal State Stanislaus กล่าวว่า ยังไม่มีกลยุทธ์ใดที่มีประสิทธิภาพพอ ที่จะใช้ต่อสู้กับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
เธอกล่าวว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับชุมชนต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสที่เหยื่อจะรายงานอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
“เราควรประเมินสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรรู้สึกว่า การผ่านร่างข้อบัญญัติใด ๆ จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้” เกอร์สเตนเฟลด์ กล่าว
—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters