ผลศึกษาชี้ ผู้ป่วย "โรคความโลหิตดันสูง" ทั่วโลกเพิ่ม 2 เท่า!
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง ชี้ว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลก เกือบ 1,300 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 30 ปี ทุกปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 8.5 ล้านคนทั่วโลก
วันนี้ (25 ส.ค.64) ผลการศึกษาร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กับอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet สัปดาห์นี้ ระบุว่า มีผู้คนเกือบ 1,300 ล้านคนทั่วโลก ป่วยเป็น "โรคความดันโลหิตสูง"
ผลการศึกษานี้ได้มาจากการวิเคราะห์สุขภาพของประชาชน ที่มีอายุ 30-79 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2019 ใน 184 ประเทศทั่วโลก พบว่า เมื่อปี 1990 มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 648 ล้านคน
ขณะที่ปี 2019 มีผู้ป่วย 1,300 คน หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือเท่ากับว่า 1 ใน 3 ของประชากรกลุ่มนี้ เป็นโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง คือ การมีค่าวัดความดันตัวบน 140 ขึ้นไป หรือค่าความดันตัวล่าง 90 ขึ้นไป มักเกิดจากโรคอ้วน และทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต สามารถตรวจพบได้ง่าย ด้วยการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำและสามารถรักษาได้ด้วยยาที่มีราคาไม่แพง แต่ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษา
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทุกปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 8.5 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่เมื่อปี 2019 มีประชาชนเสียชีวิตจาก โรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก โดยมีความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยหลัก
เบนเต มิคเคลเซน (Bente Mikkelsen) ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อของ WHO กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากความเสี่ยงทางพันธุกรรมแล้ว ยังมีปัจจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา และการมีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน และย้ำว่าโรคอ้วนเปรียบเสมือนสึนามิของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
ภาพประกอบ โดย Steve Buissinne จาก Pixabay