โรคหลอดเลือดสมอง! คร่าชีวิตคนไทยสูงรองจากมะเร็ง เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ปี 2567 ของระบบรายงานฐานข้อมูลสุขภาพ (HDC) พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสะสม 358,062 คน และเสียชีวิต 39,086 คน ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ในปี 2563 - 2565 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่กว่า 2,000 คนต่อปี
 
 รัฐบาล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มุ่งสร้างศักยภาพชุมชนเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ ด้วยแนวทาง “ป้องกันดีกว่ารักษา” เพื่อลดภาระด้านสาธารณสุข และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว จากความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ซึ่งจากการดำเนินโครงการ “ชุมชนลดเสี่ยง ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง บ้านกุดโง้ง หมู่ 3” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นพลังชุมชนขับเคลื่อนสุขภาวะด้วยองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และพัฒนากลไกที่ยั่งยืนเพื่อป้องกันโรค NCDs โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ส่งผลให้กลุ่มผู้ป่วยในชุมชนบ้านกุดโง้งสามารถควบคุมค่าความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจาก 16 คน เพิ่มเป็น 36 คน สะท้อนผลลัพธ์เชิงประจักษ์ภายใน 90 วัน 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จมี 5 ประเด็น คือ 

1.สำรวจข้อมูลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 

2.ส่งเสริมให้ประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพ 

3.อบรมให้ความรู้ 

4.สร้างพันธสัญญา 90 วันเพื่อสุขภาพดี ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย และลดปัจจัยเสี่ยงอย่างบุหรี่และสุรา ผ่าน “ข้อตกลงร่วมของชุมชน” เช่น ทุกครัวเรือนปลูกผักกินเอง กิจกรรมออกกำลังกายประจำสัปดาห์ งานบุญปลอดเหล้า และ 5.เฝ้าระวังประเมินพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมสุขภาพที่ดีให้กับชุมชนในระยะยาว
 
“รัฐบาล มุ่งพัฒนาศักยภาพภาคีให้ได้เรียนรู้แนวทางการกระจายโอกาสการสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน เกิดการรวมกลุ่มในชุมชนที่เข้มแข็ง รวมถึงข้อตกลงของชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง มุ่งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และยกระดับเป็นชุมชนต้นแบบต่อไป” นายคารม กล่าว

โรคหลอดเลือดสมอง! คร่าชีวิตคนไทยสูงรองจากมะเร็ง เช็กอาการ-วิธีป้องกัน

สรุปข่าว

“โรคหลอดเลือดสมอง” คร่าชีวิตคนไทยสูงกว่า 39,086 คน เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง เช็กอาการ วิธีป้องกัน เปิด 10 ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค รู้ทันป้องกันอัมพาต

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร ?

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ เซลล์สมองจึงขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองตายในที่สุด

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสมองขาดเลือดจำเป็นจะต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดในทันที และทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่มีอาการมีผลต่อจำนวนเซลล์สมองที่ตาย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ พิการ หรือเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการอย่างไร ?

โรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งส่งผลให้สมองเสียหายจึงทำงานผิดปกติและแสดงอาการออกมา โดยความรุนแรงหรืออาการจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย เช่น

-พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือพูดไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น รู้สึกสับสน มึนงง มีปัญหาในการทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด
-แขนขาอ่อนแรง ชาบริเวณหน้า แขน ขา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะเกิดกับร่างกายแค่ด้านเดียว ร่วมกับอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้
-ตามัวเฉียบพลัน มีปัญหาด้านการมองเห็น โดยที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเกิดอาการตามัวแบบเฉียบพลัน หรือเห็นภาพซ้อน
-มึนงง เวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนหัวเฉียบพลัน ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
-เดินเซ การทรงตัวผิดปกติ หรือซึมลง (Altered Consciousness)

อาการโรคหลอดเลือดสมองแบบไหนต้องรีบพบแพทย์ ?

หากมีอาการดังที่กล่าวมา ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที แม้ว่าอาการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และหายไป ในกรณีที่สงสัยว่าตัวผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดที่มีอาการดังกล่าวใช่สัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ แนะนำให้ตรวจเช็กตามแนวทางของ “FAST” ดังนี้

-F (Face) ใบหน้า :ให้พยายามยิ้ม แล้วสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยวหรือไม่
-A (Arm) แขน : ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้งสองข้าง แล้วสังเกตว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งตกหรือไม่มีแรงหรือไม่  
-S (Speech) คำพูด :ให้ลองถามคำถามง่ายๆ ว่าตอบได้หรือไม่ เข้าใจหรือไม่ เสียงตอบชัดหรือไม่
-T (Time) ระยะเวลา : หากเกิดอาการเหล่านี้ 1 ใน 3 อย่าง มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 72 % แต่ถ้ามีอาการทั้ง 3 ข้อ จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากว่า 85 % ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งลดความเสี่ยงของภาวะสมองขาดเลือด และลดความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพได้มากขึ้นเท่านั้น

โรคหลอดเลือดสมองรักษาได้หรือไม่ ?

โรคหลอดเลือดสมองสามารถรักษาได้ หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีที่มีอาการบ่งชี้ แพทย์จะทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อวิเคราะห์แยกโรค เพราะอาจมีโรคที่มีอาการใกล้เคียง อย่างเช่น เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติเป็นต้น

นอกจากนี้จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด รวมถึงตรวจหลอดเลือดแดงที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid doppler ultrasound) และการฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiogram) โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาการตรวจตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ในกรณีที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หมดสติ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อให้ยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดออกซิเจนได้ทัน การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะทุพพลภาพ พิการ หรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องวินิจฉัยโรคและเริ่มให้ยาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ดังนั้นการพบแพทย์ให้เร็วคือสิ่งสำคัญในการรักษาด้วยวิธีนี้

10 ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 

1.โรคหลอดเลือดสมองตีบ กับหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) 

 2.โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) ซึ่งทั้ง 2 ประเภท มีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยหลักๆ ของผู้ป่วย 10 ประการ คือ

-เป็นโรคความดันโลหิตสูง
-เป็นโรคเบาหวาน
-เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
-เป็นผู้มีไขมันคอเรสเตอรอลสูง
-เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด atrial fibrillation ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ
-เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง
-เป็นโรคอ้วน
-เป็นผู้ที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
-เป็นผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-เป็นผู้ใช้สารเสพติด ยาหรือสารกระตุ้น

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองมีวิธีอย่างไร ?

โรคหลอดเลือดสมองแบบเส้นเลือดสมองแตกเฉียบพลัน เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ดังนั้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง การเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ และควรดูแลสุขภาพตัวเองร่วมด้วย โดยควรปฏิบัติดังนี้

-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดอาหารหวานมันเค็ม
-ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-ไม่เครียด งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่อันตราย แต่หากรู้เร็ว รักษาทันเวลา ก็สามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือหายเป็นปกติได้  ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง เพื่อค้นหาความเสี่ยง และเลือกแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป

ที่มาข้อมูล : รัฐบาล/โรงพยาบาลพญาไท

ที่มารูปภาพ : Getty Images