จับตาสัมพันธ์ ‘อิหร่าน-จีน’ ผู้นำอิหร่านเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 20 ปี
‘ไรซี’ ผู้นำอิหร่าน พบปะ ‘สี จิ้นผิง’ ยกระดับความร่วมมือที่มีต่อกันนาน 25 ปี
เหตุใดปธน.อิหร่าน ถึงเยือนจีน?
ประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในระหว่างการเยือนจีนนาน 3 วัน เพื่อยกระดับความร่วมมือที่มีต่อกันมานาน 25 ปี และได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ 25 ปี และความร่วมมือด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
การหารือกันครั้งนี้ มีขึ้นในช่วงที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากประเทศแถบตะวันตกในหลากหลายประเด็น
ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ผู้นำเจอกันเพียงครั้งเดียว ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในระหว่างการประชุม Shanghai Cooperation Organisation (SCO) ที่อุซเบกิสถาน
นี่เป็นการเยือนจีนครั้งแรกของประธานาธิบดีอิหร่าน ในรอบ 20 ปี
ไรซีเดินทางไปครั้งนี้ พร้อมกับผู้ว่าการธนาคารคลาง และคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน ทั้งที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ, พลังงาน, ต่างประเทศ, การค้า, การขนส่ง และการพัฒนาเมือง รวมถึงการเกษตร
จับตาหารือประเด็นนิวเคลียร์
ที่ผ่านมา อิหร่านเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากโครงการนิวเคลียร์ และคำวิพากษ์วิจารณ์กรณีการส่งโดรนให้กับรัสเซีย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนก็ย่ำแย่ลงในเดือนนี้ หลังจากที่สหรัฐฯได้ยิงบอลลูนสอดแนมของจีนในน่านฟ้าลง
ปธน.สี จิ้นผิง ประกาศให้การสนับสนุนอิหร่านในระหว่างการเยือนครั้งนี้ โดยชี้ว่า จีนสนับสนุนกรณีที่อิหร่านป้องกันตัว และปกป้องอธิปไตยของตนเอง และต่อต้านการถูกรังแก
นอกจากนี้ จีนยังเรียกร้องให้มีการหาทางออกกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และย้ำว่าจีนยังได้แสดง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ของจีนกับอิหร่าน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก และย้ำว่าจีนจะยังคงเดินหน้าเจรจาอย่างสร้างสรรค์ในกรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่านต่อไป
สำหรับโครงการนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำร่วมกับหลายชาติตะวันตกนั้น อิหร่านถูกจำกัดการพัฒนาความเข้มข้นของแร่ยูเรเนียม เพื่อไม่ให้มีโอกาสในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาชาติ แม้ว่าที่ผ่านมาอิหร่านจำย้ำว่าพัฒนานิวเคลียร์ด้วยสันติก็ตาม ซึ่งอาลี บัคเกรี คานี หัวหน้าทีมเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็ร่วมทีมไปกับปธน.ไรซีครั้งนี้ด้วย
การเยือนของปธน.ไรซี หมายถึงอะไร?
อาร์ชิน อาดิบ-มอกาห์ดดัม ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ SOAS และผู้เขียนหนังสือ “What is Iran?” ระบุว่า “เรากำลังอยู่ในระหว่างการจัดระเบียบการเมืองโลกครั้งสำคัญ ดังนั้น จะได้เห็นรูปแบบใหม่ของพันธมิตรที่เกิดขึ้น และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และความเชื่อมโยงระหว่างอิหร่านและจีน ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวใหม่นี้”
สำหรับกลุ่ม SCO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 จาก Shanghai Five ที่ดึงเอารัสเซีย, จีน และอดีตสหภาพโซเวียตและเอเชียกลางเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนจะค่อย ๆ ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนกันยายนปีทีแล้ว ที่อิหร่านได้ลงนามเพื่อขอเข้าร่วม SCO ที่มีเป้าหมายในการรวมตัวเพื่อถ่วงดุลกับอิทธิพลของตะวันตก และนับเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ข้อตกลงอะไรที่น่าติดตาม?
คาดว่า สนธิสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ 25 ปี จะมีความโดดเด่นที่สุด ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงการลงทุนจากจีนหลายพันล้านดอลลาร์ ในภาคน้ำมันและก๊าซของอิหร่าน เพื่อและกกับอุปทานต่าง ๆ
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน แต่พบว่ามีการลงทุนในปีแรกที่ปธน.ไรซีขึ้นดำรงตำแหน่งเพียง 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่แม้กระนั้น จีนก็ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของอิหร่านอยู่ดี
ซึ่งอิหร่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาจีน เนื่องจากการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของอิหร่านในรอบกว่า 40 ปี
และยิ่งการที่อิหร่านหนุนรัสเซียในปฏิบัติการยูเครน ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงกดดันจากชาติตะวันตกในโดดเดี่ยวอิหร่านมากขึ้น
อีกเรื่องที่อยู่ในวาระการหารือ คือเรื่องความสัมพันธ์ของอิหร่านกับรัฐบาลชาติอาหรับอื่น ๆ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว เตหะรานได้เรียกทูตจีนประจำอิหร่านเข้าพบ หลังจากที่จีนได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC) ที่มีการออกแถลงการณ์ร่วม
พร้อมตั้งคำถามถึงการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของอิหร่าน ในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งอิหร่านก็ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างหนัก ต่อประเด็นดังกล่าว ขณะที่หลายฝ่ายคาดว่าอาจมีการหารือประเด็นนี้ในการเยือนครั้งนี้ด้วย แต่ก็ต้องหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาหารืออย่าละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
————
แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: