อำลาราชินีแห่งท้องฟ้า เครื่องบิน "โบอิ้ง 747" ลำสุดท้ายก่อนเลิกผลิตถาวร

อำลาราชินีแห่งท้องฟ้า เครื่องบิน "โบอิ้ง 747" ลำสุดท้ายก่อนเลิกผลิตถาวร

สรุปข่าว

โบอิ้ง 747 (Boeing 747) ได้รับการขนานนามว่า เป็นราชินีแห่งท้องฟ้า มาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ในที่สุดก็ได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าให้กับสายการบิน แอทลาส แอร์ ของสหรัฐฯ ที่โรงงานของโบอิ้ง ในเมืองเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ด้วย

เครื่องบินลำสุดท้ายนี้ถูกใส่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ที่ข้างจมูกของเครื่องบินด้วย คือ มีสติกเกอร์ข้างจมูกที่แสดงความเคารพต่อ โจ ซัทเทอร์ หัวหน้าวิศวกรของโครงการโบอิ้ง 747 ซึ่งเสียชีวิตในปี 2016 โดยหลายคนถือว่าเป็นบิดาของเครื่องบินลำนี้เลยทีเดียว

นอกจากนี้ มีผู้แทนจากบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 747 ก็เข้ามาร่วมในงานส่งมอบครั้งนี้ด้วย 

ด้าน คาร์สเตน สโปร์ ซีอีโอของลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า โออิ้ง 747 เป็นตัวแทนของหลายสิ่งหลายอย่าง เหนือสิ่งอื่นใดมันเป็นสัญลักษณ์ของโลก แต่ขณะนี้ขนาดของมันเล็กลงมาก 

แม้ว่าโบอิ้ง 747 ในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงมากกว่าเงินสด (cash cow) แต่ในปีแรก ๆ ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก และใช้งบประมาณในการพัฒนามากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้โบอิ้งเกือบล้มละลายเลยทีเดียว 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1966 สายการบินแรกที่ได้ใช้เครื่องบินนี้ คือ แพนอเมริกันเวิลด์แอร์เวส์ หรือ แพนแอม โดยโบอิง 747 นี้ เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น ก่อนที่แอร์บัส A-380 จะเกิดขึ้น ซึ่งโบอิ้ง 747 เป็นเครื่องบินที่ถูกออกแบบใหม่ ไม่มีต้นแบบ มี 2 ชั้น และเป็นเครื่องยนต์คู่ รวม 4 เครื่องยนต์ 

เมื่อเวลาผ่านไปก็มีเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น และใช้ต้นทุนน้อยกว่า ก็ทำให้ความนิยมของโบอิ้ง-747 ลดลง โดยรุ่นสุดท้ายของโบอิ้ง 747 คือ B747-8I (โบอิง 747-8 Intercontinental) ที่ถูกประกาศออกมาเมื่อปี 2005

จนเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ตามรายงานของ Cirium ทั่วโลกเหลือเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ให้บริการผู้โดยสารเพียง 44 ลำเท่านั้น จาก 130 ลำที่เคยบันทึกไว้เมื่อสิ้นปี 2019 โดยสายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า ก็ยังคงเป็นสายการบินที่มีโบอิ้ง 747 ให้บริการผู้โดยสารอยู่มากที่สุดที่ 19 ลำและทางสายการบินก็มุ่งมั่นที่จะรักษากลุ่มผู้โดยสารเหล่านี้เอาไว้อีกหลายปี หรืออีกหลายสิบปีข้างหน้าด้วย

ขณะที่เครื่องบินขนส่งสินค้าที่เป็นโบอิ้ง 747 ยังคงใช้งานอยู่ 314 ลำ ตามรายงานของ Cirium เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เคยเป็นเครื่องบินโดยสารมาก่อนถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า ซึ่งสิ่งที่ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้เป็นที่นิยมในการขนส่งสินค้า คือ คุณสมบัติเฉพาะของเครื่องบิน เช่น ความสามารถในการโหลดขึ้นจมูกที่โดดเด่น และตำแหน่งที่ยกสูงของห้องนักบิน ทำให้ลำตัวส่วนล่างยาวตลอดแนวพร้อมสำหรับการบรรทุกสิ่งของปริมาณมาก

นอกจากนี้ โบอิ้ง 747 ก็ยังถูกใช้เป็นฐานบัญชาการทางอากาศในกรณีของสงครามนิวเคลียร์ ภัยพิบัติ หรือความขัดแย้งขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่คุกคามโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารและรัฐบาลที่สำคัญ โดยสหรัฐฯ ตั้งชื่อเครื่องบินว่า Shepherd One

 และโบอิ้ง 747 ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องบินส่วนตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน โดยถูกเรียกว่า Air Force One ซึ่งมี 2 ลำกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต จากเดิมที่ถูกกำหนดไว้ให้สำหรับสายการบินหนึ่งของรัสเซียที่ล้มละลายไปเมื่อปี 2015 

ด้าน เดฟ คาลฮูน ซีอีโอของโบอิ้ง ระบุว่า ทางบริษัทอาจยังไม่ออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่เป็นเวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งทศวรรษ เรียกได้ว่าโบอิ้ง 747 เป็นตำนานของโลกเลยก็ว่าได้ สำหรับฉายา ราชินีแห่งท้องฟ้า ก็ถือว่าเหมาะสมเลยทีเดียว


ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

เครื่องบิน
โบอิง 747
boeing 747
ราชินีแห่งท้องฟ้า
แอทลาส แอร์
สายการบิน
Thailand Web Stat