ลูคาเชนโกขออาวุธนิวเคลียร์คืน อ้าง ใช้ตอบโต้การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์
ผู้นำเบลารุสแย้ม ขอปูตินคืนอาวุธนิวเคลียร์ให้ หวังใช้ตอบโต้การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์
ผู้นำเบลารุส ชี้แจง กรณีที่ขอผู้นำรัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์กลับมาประจำการ หากมีภัยคุกคามในลักษณะเดียวกันนี้จากชาติตะวันตก
ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส เผยเนื่องในวันประกาศอิสรภาพของเบลารุสในกรุงมินสค์ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า แนวคิดที่ขอให้รัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์คืนกลับมาให้เบลารุสนั้น เกิดขึ้นจากการที่โปแลนด์ต้องการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ บนผืนแผ่นดินตนเอง เขาจึงได้หารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในเรื่องนี้
---เบลารุสต้องการตอบโต้การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์---
ลูคาเชนโกอธิบายการหารือกับปูตินเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าไม่ควรถูกมองว่าเป็น 'การแบล็คเมลทางนิวเคลียร์' แต่เบลารุสควรจะสามารถตอบโต้การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีการปรึกษาหารือประเด็นนี้กันมานานแล้ว และการที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีการเตรียมการ ซึ่งเราไม่ได้ข่มขู่ใคร หรือหักหลังใคร
ก่อนหน้านี้ ลูคาเชนโกเคยแสดงความกังวลที่สหรัฐฯ และนาโตได้ทำการฝึกบิน ซึ่งเป็นฝึกซ้อมการบินพร้อมหัวรบนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ลูคาเชนโกได้ขอให้ปูตินช่วยอัพเกรดเครื่องบิน Su-35 ของเบลารุส ให้ติดนิวเคลียร์ได้ ซึ่งปูตินยินดีที่จะช่วยปรับปรุงเครื่องบินจำนวนหนึ่งให้ทันสมัย และให้คำมั่นว่า ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า รัสเซียจะส่งระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีอิสกันเดอร์ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับขีปนาวุธวิถีโค้งและขีปนาวุธร่อนได้ ทั้งในแบบปกติ และแบบมีหัวรบนิวเคลียร์ไปให้เบลารุสด้วย
แต่ในตอนนั้นโฆษกทำเนียบเครมลิน ยืนยันว่า การหารือระหว่างสองผู้นำ ไม่ได้มีประเด็นเรื่องการถ่ายโอนนิวเคลียร์ให้เบลารุส
---‘ลูคาเชนโก’ วิจารณ์ผู้นำในอดีต---
ขณะที่ในสุนทรพจน์วันชาติ ลูคาเชนโกย้อนความหลังว่า ในอดีต เบลารุสยอมย้ายอาวุธนิวเคลียร์คืนไปให้รัสเซีย ดังนั้น เขามีสิทธิที่จะเรียกร้องของประธานาธิบดีของรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติพี่เมืองน้อง ให้รับประกันว่า ชายแดนของเบลารุสจะต้องได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสม และนี่คือสิ่งที่เขาทำ
ที่ผ่านมา ลูคาเชนโกยังวิจารณ์ผู้นำเบลารุสในอดีต ที่ตัดสินใจยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ไป โดยกล่าวว่า คือการความผิดพลาดที่เลวร้ายที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงปี 1994-1996 เบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน ยอมส่งมอบหัวรบนิวเคลียร์ของตนให้แก่แก่รัสเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับหลักประกันด้านความมั่นคง
แต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีโปแลนด์เผยว่า โปแลนด์เปิดกว้าง หากสหรัฐฯ ต้องการนำอาวุธนิวเคลียร์มาเก็บไว้ที่โปแลนด์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการป้องปรามรัสเซีย ทำให้รัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลโปแลนด์นั้นน่ากังวลอย่างยิ่ง
ด้านประธานาธิบดีปูติน กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า แรงกดดันทางการเมืองจากชาติตะวันตก กำลังผลักให้รัสเซียเร่งบูรณาการกับเบลารุสมากยิ่งขึ้น ขณะที่เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะต้องมีมาตรการร่วมเร่งด่วน ในการยกระดับการป้องกันประเทศ และเตรียมความพร้อมกองทัพสำหรับการสู้รบ
---เบลารุสชี้ยูเครนยั่วยุ พร้อมโต้กลับศัตรู---
ขณะเดียวกัน ลูคาเชนโก ยังเผยว่า กองทัพเบลารุสได้ยิงสกัดขีปนาวุธสองลูกที่ยิงมาจากยูเครน พุ่งเป้ามายังเบลารุส
เขากล่าวว่า เราถูกยั่วยุ เมื่อสามวันก่อน หรือมากกว่านั้น มีความพยายามโจมตีเป้าหมายทางการทหารในเบลารุสมาจากยูเครน แต่โชคดีที่ระบบป้องกันทางอากาศปันท์ซีร์ สามารถยับยั้งขีปนาวุธที่ยิงมากจากกองทัพยูเครนได้ทั้งหมด และเขาให้คำมั่นว่า เบลารุสจะตอบโตทันทีหากมีการโจมตีของศัตรู
ในฝั่งของยูเครน ก็มีการอ้างเช่นกันว่ายูเครนยับยั้งขีปนาวุธที่ถูกยิงมากจากแคว้นติดชายแดนของเบลารุส แต่ลูคาเชนโกปฏิเสธว่า เบลารุสไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไม่มีทหารของเบลารุสเข้าร่วมรบในปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย
---ลูคาเชนโกยัน ไม่ตั้งใจสู้รบในยูเครน---
เขายืนยันว่า เบลารุสไม่มีความตั้งใจที่จะสู้รบในยูเครน และเบลารุสจะต้องสู้เพียงกรณีเดียวคือ หากมีการรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินเบลารุส สังหารประชาชนของเบลารุส หากถูกโจมตี เบลารุสจะตอบโต้พุ่งเป้าไปที่ศูนย์การตัดสินใจของรัฐบาลชาติตะวันตก ดังนั้น อย่าแตะต้องเรา เราก็จะไม่แตะต้องคุณ
ทั้งนี้ เบลารุสเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมายาวนาน และยังพึ่งพารัสเซียอย่างมากทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ รัสเซียยังให้การสนับสนุนลูคาเชนโก ในช่วงเวลาที่เกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านเขาภายในประเทศ ในขณะที่เบลารุสให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยเป็นฐานที่มั่นส่วนหลังให้กับกองทัพรัสเซีย ในช่วงที่ทหารรัสเซียต้องเดินทางข้ามพรมแดนเบลารุสเพื่อไปยังเมืองหลวงของยูเครน
————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters