การสมัครงาน(ใหม่)ไม่ใช่เรื่องลับ หลังบริษัทจีนใช้สปายแวร์สอดส่องพนักงาน
บริษัทจีนถูกจับได้ว่าใช้สปายแวร์ ติดตามการหางานของพนักงาน และตรวจหาคนที่มีแนวโน้มว่าจะลาออก
สำนักข่าว SCMP รายงานว่า พบการใช้สปายแวร์ในบริษัทเทคโนโลยีแดนมังกร โดยติดตามการทำกิจกรรมของพนักงานที่นอกเหนือจากการทำงาน กับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ยังใหม่สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่
---ความลับที่ไม่ “ลับ”---
หม่า วัย 27 ปี เพิ่งลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เพื่อไปทำงานที่มี “ความมั่นคง” ในบริษัทสื่อซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ
การตัดสินใจลาออกของหม่า สร้างความประหลาดใจให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แต่ผู้จัดการทราบอยู่ก่อนแล้ว โดยเขาบอกกับเธอว่า เขาทราบดีว่าเธอกำลังมองหางานใหม่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เธออัปเดตประวัติในเว็บไซต์หางาน
“มันเป็นไปได้ยังไง?” หม่าสงสัย
หม่าพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ที่ทำงานรู้ว่าเธอกำลังหางานใหม่ เธออัปเดตประวัติที่บ้านโดยใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเอง รวมถึงนัดสัมภาษณ์งานทางออนไลน์เพื่อที่จะไม่ต้องลางาน และยังคงปฏิบัติงานตามปกติ
แม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ หม่าก็ยังคิดว่าไม่มีใครล่วงรู้ความลับนี้
---เมื่อพนักงานไม่เคยอยู่ “นอกสายตา”---
รายงานข่าวล่าสุดเปิดเผยว่า มีบริษัทใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Sangfor บริษัทเทคโนโลยีในเซินเจิ้น เพื่อตรวจสอบกิจกรรมหางานของพนักกงาน
“บริษัทของฉันก็กำลังใช้ซอฟต์แวร์แบบเดียวกัน หรือว่าผู้จัดการทราบว่าฉันกำลังหางาน ผ่านเครือข่ายส่วนบุคคลของฝ่าย HR“ หม่า กล่าว
ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หม่าตระหนักได้ว่า บริษัทของเธอกำลังจับตาดูพนักงานอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจากภาพบันทึกหน้าจอที่โพสต์กันบนโลกออนไลน์ ซอฟต์แวร์ตัวดังกล่าว ติดตามเรซูเม่ของคนที่ยื่นสมัครงานและเว็บหางานที่พวกเขาเข้าใช้
จากข้อมูลพบว่า ซอฟต์แวร์จะทำการวิเคราะห์กิจกรรมการหางาน และใช้ป้ายสีส้มซึ่งแปลว่า เป็น “ผู้ต้องสงสัย” กับคนที่เข้าข่ายว่าจะลาออก
---สอดส่องทุกความเคลื่อนไหว---
การเฝ้าระวังพนักงานกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในหมู่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีแดนมังกร พนักงานหลายคนระบุว่า พวกเขาเชื่อว่ากำลังถูกตรวจสอบโดยนายจ้าง ก่อนที่จะมีรายงานข่าวเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ตัวนี้เสียอีก
“ปกติแล้ว คอมพิวเตอร์ที่เราใช้จะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ความปลอดภัยที่ตรวจสอบการใช้งานทั้งหมดของพนักงาน” โปรแกรมเมอร์ที่เพิ่งลาออกจาก ByteDance บริษัทเจ้าของแอฟพลิเคชันยอดฮิตอย่าง TikTok กล่าว
“ตราบเท่าที่คุณยังเชื่อมต่อกับอินทราเน็ต บริษัทจะสามารถบันทึกข้อมูลของคุณได้ทุกอย่าง” เขากล่าว เนื่องจากการตีความกฎข้อบังคับขั้นสุดท้ายนั้นขึ้นอยู่กับบริษัท พนักงานจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากได้แต่ระมัดระวัง
พนักงานอีกคนของ ByteDance กล่าวว่า เขาแทบจะไม่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย อย่าง WeChat, Weibo และ Maimai เลย แม้จะมีโหมดที่สามารถเชื่อมต่อได้โดยไม่ต้องระบุตัวตนก็ตาม
“ถึงอ้างว่า ไม่ระบุตัวตน แต่ก็ยังมีโอกาสที่บริษัทจะตามเจออยู่ดี” เขา กล่าว
---ได้แต่ทำใจให้ชิน---
นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีแล้ว เครือข่ายผู้บริหารด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกัน ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของบริษัทเหล่านี้ด้วย
ปีที่แล้ว โปรแกรมเมอร์ของ Pinduoduo แพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพิ่งถูกไล่ออกหลังโพสต์ภาพรถพยาบาลที่จอดรอนอกอาคาร พร้อมแคปชั่น “ชายผู้ดุร้ายได้จากไปแล้ว” โดยเป็นโพสต์ที่ไม่ระบุตัวตน
การถูกสอดแนมเป็นที่แพร่หลายมากในแวดวงเทคโนโลยี ซึ่งหลายคนยอมรับว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการทำงานปกติของพวกเขาไปแล้ว
“มันเหมือนว่าเมื่อคุณเข้าทำงานในบริษัทไหน คุณก็ต้องยอมรับความจริงเรื่องนี้ให้ได้” พนักงานบริษัทเทคโนโลยีอีกคนอธิบาย
---กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล---
อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีน การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่
ซือ หยูฮัง ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย Huiye ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผลบังคับใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ควรแจ้งให้พนักงานของตนทราบเกี่ยวกับการตรวจสอบ และขอความยินยอมก่อน
หากไม่ปฏิบัติตามจะถือเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ซือ เผยว่า ขอบเขตการใช้งานนั้นยังไม่ชัดเจน
“ผมเชื่อว่า เมื่อจำนวนเคสแบบนี้เพิ่มขึ้น เราจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าขอบเขตอยู่ที่ไหน และช่วยให้พนักงานปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเองได้” ซือ กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters