WWF พบ 224 สัตว์และพืชพันธ์ุใหม่ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ค้นพบสัตว์และพืชพันธุ์ใหม่ 224 ชนิด ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund (WWF) เปิดเผยในวันนี้ (26 ม.ค.65) ว่า ค้นพบสัตว์และพืชพันธุ์ใหม่รวมทั้งหมด 224 พันธุ์ในปี 2020 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงตัว rock gecko สัตว์ประเภทจิ้งจก ที่พบในไทยด้วย ทั้ง ๆ ที่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในอนุภูมิภาคแห่งนี้ กำลังเสี่ยงต่อภัยคุกคามในการสูญเสียถิ่นที่อยู่
สัตว์และพืชพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในรายชื่อการค้นพบใหม่ล่าสุดของ WWF รวมถึง "ต้นไผ่" พันธุ์ใหม่ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ "ต้นหม่อน" พันธุ์ใหม่ในเวียดนาม "กบหัวโต" ในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบ แต่ก็กำลังถูกคุกคามถิ่นที่อยู่แล้ว เนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
WWF ระบุว่า การพบสัตว์และพืชชนิดใหม่ถึง 224 ชนิดครั้งนี้ ยืนยันชัดเจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนามและไทย
และเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ธรรมชาติสามารถฟื้นตัวเองได้และอยู่รอดได้ แม้ในสภาพที่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของชีวิตป่ากำลังเสื่อมโทรมและแตกสลาย
WWF ระบุต่อไปว่า อนุภูมิภาคลุ่มน้ำแข็งเป็น “บ้าน” ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลกหลายชนิด เนื่องจากถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย โรคในสัตว์และพืชที่เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และการค้าชีวิตสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
รายงานของสหประชาชาติ หรือ UN เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า การลักลอบค้าสัตว์และพืชป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับคืนมาใหม่อีกแล้ว หลังจากหยุดชะงักไปพักหนึ่งเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ปิดพรมแดนและเข้มงวดการตรวจตรา.
ภาพจาก Reuters