จีนเร่งพัฒนาแหล่งแร่หายาก หวังมีชัยเหนือสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ศึกแย่งชิง “แร่หายาก” พื้นที่แข่งขันด้านการค้าใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ
สำนักข่าว SCMP รายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสงครามการค้าสองชาติ โดยระบุว่า จีนเร่งพัฒนาแหล่งแร่หายาก หลังกลายเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ
---แดนมังกรครองตลาดแร่หายาก---
จีนได้รับการเรียกร้องให้สร้างกลไกการทำงานที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อความปลอดภัยต่อการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ รวมถึงเป็นเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์กดดันสหรัฐฯ และพันธมิตร ท่ามกลางแรงขับเคลื่อนจากทั่วโลกที่มุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาด
ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษากลยุทธ์ของทำเนียบขาว เกี่ยวกับแร่หายาก หรือ Rare Earth กล่าวว่า ร่างที่จีนเสนออาจคล้ายกับระบบในสหรัฐฯ ซึ่งการค้า, พลังงาน, นโยบายต่างประเทศ และหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ล้วนมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการตามกลยุทธ์แร่ธาตุที่สำคัญ โดยข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ โดยทีมงานที่นำโดย อวี๋ หงหยวน ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการสถาบันการเมืองเปรียบเทียบและนโยบายสาธารณะ จาก Shanghai Institutes for International Studies (SIIS)
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ปี 2040 โลกต้องใช้แร่ธาตุมากกว่าปัจจุบันถึง 6 เท่า เนื่องจากมนุษย์กำลังแข่งขันเพื่อบรรลุการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นการกระตุ้นการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จีนครองอุปทานแร่ที่สำคัญทั่วโลก รวมถึงแร่หายากที่จำเป็นสำหรับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และกังหันลม
--- “แร่หายาก” เครื่องมือต่อรองสงครามการค้า---
ด้านสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้เพิ่มความพยายามในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและลดการพึ่งพาจีน ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของสหรัฐฯ ในด้านการลงทุนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น กระตุ้นให้สหรัฐฯ สั่งห้ามบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีที่สำคัญไปยังจีน ซึ่งเป็นการกดดันความพยายามของจีนในการปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Contemporary International Relations
เนื้อหาในรายงานระบุว่า “จีนควรเสริมสร้างยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อความมั่นคงในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ ตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ, ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
ทั้งนี้ แร่ธาตุมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหาร และจีนเป็นผู้ส่งออกแร่หลักอย่างน้อย 32 จาก 50 ชนิด ที่ทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ถือเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ
สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาแหล่งแร่จากต่างประเทศรวมถึงจีน ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์และกังหันลม ไปจนถึงแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่เครื่องบินขับไล่ ขณะที่ สงครามการค้าในปี 2018 ทำให้สหรัฐฯ กังวลอย่างยิ่งว่า จีนจะควบคุมแร่ธาตุหายาก เพื่อวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ นับตั้งแต่นั้นมา สหรัฐฯ จึงพยายามเพิ่มห่วงโซ่อุปทานจากประเทศอื่น
---สหรัฐฯ หันพึ่งพันธมิตร “ปลอดจีน”---
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้สรุปแผนงานที่หน่วยงานของรัฐบาลกลางได้รับคำสั่งให้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแปรรูปในประเทศ รวมถึงชาติพันธมิตร เพื่อสร้างความยืดหยุ่นเชิงกลยุทธ์และห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ
แผนงานยังระบุว่า ด้วยกำลังการผลิตในประเทศที่จำกัด จึงมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะต้องหาพันธมิตรเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง โดยไม่ต้องพึ่ง “จีน” ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงกับออสเตรเลียและแคนาดา ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรในด้านการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ
ปีนี้ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์แร่หายากรายใหญ่ที่สุดรองจากจีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาดครั้งแรกของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ หรือ Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งจีนประณามว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์สหรัฐฯ ที่มุ่งต่อต้านจีน
ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียกล่าวเมื่อเดือนกันยายนว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแผนงาน สำหรับการสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
---จีนเดินหน้าพัฒนาเหมืองแร่หายาก---
รัฐบาลจีนตระหนักถึงความสำคัญของแร่ ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์มานานแล้ว ย้อนกลับไปในปี 1992 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนได้ประกาศว่า “ตะวันออกกลางมีน้ำมัน ส่วนจีนมีแร่หายาก” ซึ่งหมายถึง ธาตุโลหะ 17 ชนิดที่สำคัญต่อเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาขึ้นในขณะนี้
อีกทั้ง เมื่อปี 2019 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และผู้ช่วยทางเศรษฐกิจ ได้เยือนเมืองก้านโจว ฐานการผลิตหลักสำหรับแร่ธาตุหายากและแม่เหล็ก หลายคนเชื่อว่าการเดินทางไปยังเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นสัญญาณว่า แร่หายากอาจเป็นประโยชน์ในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว จีนได้ประกาศควบรวมบริษัทแร่ของรัฐ 3 แห่ง เพื่อจัดตั้งกลุ่ม China Rare Earth ซึ่งจะควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่หายากมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ และคาดว่า จะสนับสนุนการครองอำนาจของจีนในการจัดหาแร่หายากทั่วโลก
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters