TNN ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ?

TNN

TNN Exclusive

ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ?

ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ?

นักวิชาการ เผยบทวิเคราะห์ ค่า "GP" คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการ Food Delivery จริงหรือ? ชี้เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กินเวลาลากยาวกว่าที่คิด มาตรการล็อกดาวน์ไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลง  ธุรกิจสุดฮอตมาแรงแซงโค้งที่ตีคู่ไปกับยุคโควิด-19 แบบนี้ คงหนีไม่พ้นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่หรือบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่สไตล์ New Normal อยู่บ้านหยิบโทรศัพท์มือถือกดสั่งอาหารหลากหลายเมนูจากร้านอาหารสุดโปรด เสิร์ฟความอร่อยเร็วทันใจ! ได้ทุกวัน

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลอดทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2562 ที่มีราว 35 – 45 ล้านครั้ง และคาดว่ามูลค่าของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปีนี้จะเติบโต 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.4 – 24.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สอดรับกับการปรับรูปแบบทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working

หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า “ค่า GP” เพราะถูกกล่าวถึงหลายเวทีด้วยกัน หากแปลตรงตัว “GP” ย่อมาจาก “Gross Profit” หรือ “กำไรขั้นต้น” คำนวณโดยนำยอดขาย (Sales) มาหักลบต้นทุน (Cost) ในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี “ค่า GP” ไม่ใช่กำไร แต่คือเงินส่วนแบ่งจากยอดขายที่แอปพลิเคชันเรียกเก็บจากร้านอาหารเพื่อเป็นค่าบริการหรือค่าดำเนินการต่างๆ  ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ? ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกและการสื่อสารการตลาด 

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกและการสื่อสารการตลาด  เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี 5 เจ้าหลักๆ ประกอบด้วย Grab, LINE MAN, Foodpanda, Gojek (ปัจจุบันขายกิจการให้ AirAsia แล้ว) และ Robinhood ซึ่งส่วนใหญ่เก็บค่า GP อัตราใกล้เคียงกัน ความต่างอยู่ตรงรายละเอียดและเงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้

 พูดให้ง่ายขึ้น “ค่า GP” เป็นค่าคอมมิชชันที่ร้านค้าจ่ายให้แก่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การเข้าถึงฐานลูกค้านับล้าน ได้โปรโมทร้าน โปรโมชั่นส่งฟรี รวมถึงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้น  ร้านอาหารใดเข้าร่วม ลูกค้ายิ่งแห่ซื้อ คิดแง่บวก GP เหมือนค่าการตลาดที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในอนาคต อย่าลืมว่าภายใต้สถานการณ์บังคับที่ขายหน้าร้านแทบไม่ได้ แพลตฟอร์มออนไลน์คือทางออก อย่างน้อยที่สุด ธุรกิจก็มีรายได้ มีเงินสดหมุนเวียน ต่อลมหายใจอีกเฮือก รอวันกลับมาสู้ใหม่  
ขออย่างเดียว!! เมื่อลูกค้ารู้จักร้านเราเยอะขึ้น อย่าลืมเก็บข้อมูลไว้บ้าง เช่น เมนูไหนเป็นที่นิยม ลูกค้ากลุ่มใดที่สั่งซื้อบ่อย เพราะนี่คือฐานข้อมูลลูกค้า (Customer Database) ชั้นยอดสำหรับคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ ปรับปรุงเมนูเดิมที่เริ่มไม่ตอบโจทย์ หรือหาบริการอื่นๆเสริมทัพ เพื่อยกระดับสู่ “ร้านอาหารในดวงใจ” คู่ขนานทั้งแพลตฟอร์มออฟไลน์และออนไลน์ไปด้วยกัน 

กลับมาเรื่อง “ค่า GP” ต่อ หลายคนอาจคิดว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีน่าจะเป็น “เสือนอนกิน” ได้กำไรเน้นๆ จากทุกออเดอร์สั่งอาหาร แต่จริงๆ แล้ว ทุกเจ้าก็ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องแบกรับ ทั้งการลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน ค่าตอบแทนของไรเดอร์ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด รวมถึงค่าโฆษณาเพื่อโปรโมทร้านอาหาร เป็นต้น 

ที่ผ่านมาผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Grab ได้ออกมาสื่อสารถึงประเด็นการจัดสรรรายได้ด้วยรูปภาพอินโฟกราฟิก “พิซซ่าโมเดล” โดยอธิบายว่า ค่าคอมมิชชันในอัตราสูงสุด 30% ที่เรียกเก็บจากร้านอาหารในทุกออเดอร์ ส่วนใหญ่เป็นรายได้ของไรเดอร์หรือคนส่งอาหาร ที่เหลือนำไปใช้ทำโปรโมชั่นหรือส่วนลดพิเศษให้ลูกค้า คิดค้นบริการใหม่ๆและพัฒนาแพลตฟอร์ม พัฒนาระบบหลังบ้าน จัดโครงการช่วยเหลือร้านค้า ตลอดจนมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆแก่ไรเดอร์  ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ? เช่นเดียวกับค่ายหมีสีชมพูอย่าง Foodpanda ก็ออกมาอธิบายเรื่องค่า GP ที่เรียกเก็บจากร้านอาหารว่าเป็น “เงินต้นทุน” ที่แพลตฟอร์มนำมาใช้ด้านการตลาดกับร้านค้าพันธมิตร โฆษณาโปรโมทร้าน ทำดีลส่วนลดหรือโปรโมชั่นต่างๆเพื่อจูงใจลูกค้า รวมถึงค่าตอบแทนของไรเดอร์ด้วย ค่า GP คือ “กำไร” ของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ จริงหรือ?

 หากเชื่อมโยงโมเดลธุรกิจกับค่า GP เราจะเริ่มเข้าใจโครงสร้างของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่ฝั่งแพลตฟอร์มผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ตัวแปรสำคัญ นั่นคือ ไรเดอร์และผู้บริโภค เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศธุรกิจหรือ Ecosystem ดังนั้น Ecosystem ที่แข็งแกร่งต้องเริ่มจากการมี Mindset ที่ดี มองเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน 


ฟู้ดเดลิเวอรี่ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองท่ามกลางวิกฤตโควิด-19  ไม่ใช่แค่ความดุเดือดของสมรภูมิการแข่งขัน แต่เป็นการพยายามหา “จุดสมดุล” ระหว่างทุกฝ่ายใน Ecosystem สู่ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ร้านค้าได้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมเพียงพอ ผู้บริโภคได้บริการที่คุ้มค่ากับราคา และผู้ให้บริการแอปพลิเคชันได้ผลกำไรเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจระยะยาว เพราะแท้จริงแต่ละฝ่ายคือผลรวมของ Ecosystem ที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

ที่มา : ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกและการสื่อสารการตลาด 


ข่าวแนะนำ