ทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้? วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง
ทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้??? วิเคราะห์โดยธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง
GOLD BULLISH
- การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ
- ความต้องการทองคำจากจีนในปีนี้คาดเพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางซื้อทองคำในทุนสำรองเพิ่มขึ้น
GOLD BEARISH
- ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน
- เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว
- การกระจายวัคซีนโควิด-19
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวสูงขึ้นในปีนี้
ประเด็นร้อนในปีนี้คงเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ ถึงแม้ว่าเฟดจะเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาทองคำเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ แต่วันก่อนผมได้อ่านบทความใน CNBC ในหัวข้อทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้? ทำให้เปิดมุมมองของผมเกี่ยวกับทองคำเลยนำบทความนี้มาแชร์ให้นักลงทุนอ่านกัน ซึ่งได้มีการนำข้อมูลในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้นในอดีตย้อนหลังไปหลายทศวรรษทีเดียว ในช่วงทศวรรษที่ 70 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้นซึ่งเฉลี่ยสูงถึง 7% ผมขอเสริมว่าตอนนั้นเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากสงครามระหว่างอิหร่านและอิรักที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ ราคาทองคำช่วงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดท่ามกลางสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้ออื่นๆ โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง 35%
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงทศวรรษต่างๆ
ทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้?
นอกจากทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ ยังมีสินทรัพย์อื่นที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตราสารประเภท (TIPs) ที่มีอัตราผลตอบแทนเชื่อมโยงกับเงินเฟ้อ สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำถูกยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งในช่วงที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในปีที่แล้ว ทองคำแสดงบทบาทของสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม ขณะที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐลดลง 34% จากที่ขึ้นไปแตะสูงสุดในช่วงวันที่ 19 ก.พ. และลงไปต่ำสุดในวันที่ 23 มี.ค. ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาหุ้น SPDR Gold Shares ลดลงเพียง 3.6% แต่ในปีนี้ที่มีประเด็นเรื่องเงินเฟ้อในบทความของ CNBC มองว่าทองคำอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ โดยดูผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ 3 อย่างที่คาดว่าเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ ได้แก่ ทองคำ กองทุน REITs สินค้าโภคภัณฑ์ ในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงๆ ถ้าดูจากกราฟข้างล่างแล้ว ทองคำอาจจะไม่จำเป็นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อ มีการยกตัวอย่างว่าในช่วงปี 1980-1984 ที่สหรัฐมีอัตราเงินเฟ้อ 6.5% นักลงทุนทองคำกลับขาดทุน 10% เช่นเดียวกับในช่วงปี 1988-1991 ทองคำให้ผลตอบแทนติดลบ 7.6% เมื่ออัตราเงินเฟ้อสหรัฐในช่วงเวลานั้น 4.6% ทำให้ทองคำอาจจะไม่ได้สินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ดีในทุกช่วงเวลาได้ แต่สิ่งที่แน่นอนในมุมมองของผมสำหรับทองคำคือทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเสมอ
ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงเกิดเงินเฟ้อสูง
สัปดาห์นี้แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,770-1,830 ดอลลาร์ ประเด็นที่คาดจะกระทบต่อราคาทองคำในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส จะทำให้นักลงทุนประเมินถึงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยและมาตรการ QE การเปิดเผยรายงาน Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด 12 เขตในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุมเฟดวันที่ 27-28 ก.ค. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนมิ.ย. ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภค ที่จะมีผลต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เช่นกัน การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น จีดีพีไตรมาส 2 ของจีน โดยทองคำมีแนวรับที่ 1,790 ดอลลาร์ และ 1,770 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 1,820 ดอลลาร์ และ 1,830 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 27,600 บาท และ 27,350 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 28,000 บาท และ 28,150 บาท