
นับตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับมรสุมจากหลายด้าน จนขึ้นแท่นติดอันดับตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนย่ำแย่ที่สุดในโลก ติดลบไปกว่า 15% ภายในเวลาเพียงแค่สามเดือน อันเนื่องมาจากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จำกัด ความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ ตลอดจนปัญหาด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หลายบริษัท ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่ตลาดหุ้นไทยถูกเทขายอย่างหนักจนมี Valuation ที่ต่ำใกล้เคียงกับระดับในปัจจุบัน ครั้งแรกคือช่วงต้นปี 2016 ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงจากวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ครั้งที่สองคือ ปี 2020 ช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยเกิดภาวะ Panic sell อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุน “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนั้น จะได้รับผลตอบแทนราว 25% และ 45% ในช่วง 1 ปีหลังจากนั้น สถิติในอดีตจึงชี้ให้เห็นว่า การเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ Valuation ปรับตัวลงมาต่ำมากในระดับ “Deep Discount” เป็นจังหวะสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมได้

สรุปข่าว
ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาซื้อขายต่ำสุดในรอบ 10 ปีอีกครั้ง มาตรวัดมูลค่าหุ้นทุกประเภทตามแบบฉบับของนักลงทุน VI (Value Investor) ต่างบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “มูลค่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ถูกมากพอที่จะเข้าลงทุน” ได้แก่ 1. Forward Price Earnings Ratio ปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.32 เท่า ต่ำกว่าช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ PE ของตลาดหุ้นไทยลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 12.9 เท่า 2. Price to Book Value อยู่ที่ระดับ 1.13 เท่า ต่ำกว่าช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ระดับ 1.21 เท่า 3. Dividend Yield ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 4.4% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดช่วง COVID-19 และ 4. Earnings Yield Gap ซึ่งวัดส่วนต่างระหว่าง ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทย เทียบกับ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 3.3% ใกล้เคียงกับช่วงปี 2016
มองไปข้างหน้า ปัจจัยที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ มาตรการฟื้นฟูตลาดทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการออกกองทุน ThaiESG Extra ซึ่งน่าจะช่วยจำกัดแรงขายกองทุน LTF คงค้างที่มีอยู่ในตลาดราว 1.8 แสนล้านบาทลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมาตรการ TISA (Thailand Individual Saving Account) ที่เป็นบัญชีการลงทุนเพื่อการเกษียณและให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ซึ่งมีแนวโน้มจะออกมาเพื่อสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเริ่มส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ทั้งในมิติของนโยบายการเงิน จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จากระดับ 2.5% สู่ระดับ 2% ในช่วงที่ผ่านมา การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมิติของนโยบายการคลัง เช่น โครงการแจกเงินหมื่นเฟส 3 เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ โดย TISCOESU คาดการณ์ว่า GDP ปี 2025 ของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 2.8% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยในครั้งนี้ ได้สะท้อนปัจจัยลบที่นักลงทุนกังวลไปมากแล้วและเป็นโอกาสลงทุนที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ว่า หากเข้าลงทุนหุ้นไทยในราคาที่ถูกมากพอ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมได้ แม้ตลาดหุ้นไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านก็ตาม
ที่มาข้อมูล : ธนาคารทิสโก้
ที่มารูปภาพ : freepik

ธนวัน ปันทะโชติ