ลาออก หรือ ถูกถอดถอน ? ความเป็นไปได้ในอนาคตของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล
การประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ที่จบลงได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ความวุ่นวายของการเมืองเกาหลีใต้ยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะต่อมาประธานาธิบดีก็ได้เผชิญหน้ากับการเรียกร้อง และกดดันให้ลาออกทั้งจากฝั่งประชาชน และฝ่ายค้าน
---กฎอัยการศึกของเกาหลีใต้จบลงใน 6 ชั่วโมงได้อย่างไร ? ชวนดูสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับ ปธน.เกาหลีใต้ต่อจากนี้---
“เพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐ … ข้าพเจ้าขอประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน”
นี่คือคำประกาศของยุน ซ็อกย็อล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลของการประกาศนี้ ทำให้กฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ถูกประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี และยังถือเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งแรก นับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปี 1987
ปธน.เกาหลีใต้ได้อ้างถึง ‘กองกำลังต่อต้านรัฐ’ และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเพื่อเป็นเหตุผลในการประกาศนี้ แต่ถึงอย่างนั้น สำนักข่าวในเกาหลีใต้ และนักวิชาการต่างก็วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของยุนนั้น ไม่ได้เกิดจากภัยคุกคามภายนอก แต่เกิดจากปัญหาทางการเมืองที่คะแนนนิยมของเขาที่ตกต่ำลง ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะถูกตรวจสอบจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตหลายกรณี
สำหรับเกาหลีใต้ การประกาศกฎอัยการศึกเป็นกฎชั่วคราวที่บังคับใช้โดยทางการทหารในยามฉุกเฉิน เมื่อทางการพลเรือนถูกมองว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และการบังคับใช้กฎอัยการศึกสามารถส่งผลทางกฎหมายได้ เช่น การระงับสิทธิพลเมืองตามปกติ และการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายทหาร ซึ่งการประกาศใช้ครั้งล่าสุดนั้น คือในปี 1979 เมื่ออดีตประธานาธิบดีปาร์ก จุงฮี ถูกลอบสังหาร
แต่การประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ที่จบลงได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงนี้ เป็นเพราะรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ที่ถูกแก้ไขภายหลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 1987 ที่สภานิติบัญญัติได้ลงมติเกี่ยวกับการยกเลิกกฎอัยการศึก และกำหนดว่า กฎอัยการศึกต้องถูกยกเลิกเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเรียกร้อง ซึ่งภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก ส.ส.พรรคฝ่ายได้รวมตัวกันที่รัฐสภา และร่วมกันโหวตยกเลิกคำสั่งกฎอัยการศึกนี้
แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าร่วมโหวตก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เมื่อภายหลังกฎอัยการศึกมีการบังคับใช้ ทหารเองก็เริ่มปฏิบัติการณ์ และตรึงกำลังที่บริเวณรัฐสภา จนเกิดการปะทะเล็กน้อยกับประชาชนที่เข้าชุมนุมต่อต้านกฎอัยการศึก โดยสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า มีเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ที่มีทหารโดยสารบินเข้ามาในบริเวณอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ รวมถึงมีการปิดทางเข้า และยังมีรถสายตรวจ รถบัสปราบจราจลหลายสิบคันมารวมตัว ด้านประชาชนเองก็มารวมตัวเพื่อเปิดทาง และขวางทหารไม่ให้ขัดขวางการเข้าไปประชุมสภาของเหล่า ส.ส. ซึ่งจากไลฟ์สตรีมของอี แจมยอง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ก็เห็นว่าเขาต้องปีนประตูรัฐสภาเพื่อเข้าไปลงมติโหวตด้วย
ในการลงมตินั้น ประธานสภาแห่งชาติเกาหลี วู วอนชิก ได้ประกาศว่าสมาชิกรัฐสภา "จะปกป้องประชาธิปไตยร่วมกับประชาชน" ก่อนมติดังกล่าวจะผ่านการโหวตด้วยคะแนนเสียง
190 จาก 300 เสียงของพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก็คือ ส.ส.ที่เข้าร่วมทั้งหมดในเวลานั้น ทุกคนต่างโหวตเห็นด้วยทั้งหมด ก่อนที่ประธานาธิบดียุน ซ็อกย็อล จะรับมติ และยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการ และประกาศว่ารัฐบาลของเขาได้ถอนกำลังทหารออกไป และมาตรการดังกล่าวได้รับการยกเลิกอย่างเป็นทางการในเวลาประมาณ 04.30 น. (เวลาเกาหลี) โดยทำให้กฎอัยการศึกมีผลบังคับใช้เป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
ถึงอย่างนั้น การเกิดกฎอัยการศึกในเกาหลีไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป เพราะในปีที่ผ่านมา ได้มีคำเตือน และการพูดถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดกฎอัยการศึกขึ้นบ่อยครั้ง โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คิมมินซอก ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านก็ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า
“ผมมีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อว่ารัฐบาลของยุน ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อประกาศกฎอัยการศึก”
ซึ่งเขาชึ้ว่า ความกังวลนี้เกิดขึ้นหลังตำแหน่งสำคัญทางการทหารหลายตำแหน่งที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ การต่อต้านข่าวกรอง และข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ถูกบรรจุด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประธานาธิบดี ทำให้ ส.ส.คิมเชื่อว่า บุคคลเหล่านี้อาจมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎอัยการศึกในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ลาออก หรือถูกถอดถอน ความเป็นไปได้ในอนาคตของ ปธน.ยุน ซ็อก-ย็อล ?
“ฟื้นฟูประชาธิปไตย” “ยุนต้องลาออก”
คือข้อความบนแผ่นป้ายประท้วงของประชาชน ซึ่งแม้ว่าการลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก จะถูกยกเลิกในเวลาอันรวดเร็ว แต่ความวุ่นวายในการเมืองเกาหลีใต้ก็ยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะขณะนี้ ประธานาธิบดีก็ได้เผชิญหน้ากับการเรียกร้อง และกดดันให้ลาออกทั้งจากฝั่งประชาชน และฝ่ายค้าน
ประชาชนต่างออกมาประท้วงในจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงโซล โดยมองว่าการกระทำของยุน ซ็อกย็อล คือ การทำลายประชาธิปไตย และทำให้เขาหมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไป ซึ่งสหภาพแรงงานเกาหลีก็ประกาศว่า จะเริ่มการประท้วงหยุดงานจนกว่าประธานาธิบดีจะลาออกด้วย
ขณะที่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งรวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกฝ่ายค้านยังรวมตัวกันอยู่นอกรัฐสภา เรียกร้องให้ผู้นำรายนี้ลาออกเช่นกัน โดยฮัน ดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในฐานะพรรครัฐบาล เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อประชาชน” ทั้งทางพรรคยังเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีกลาโหม คิม ยองฮยอน และให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดลาออกเพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
โดยอี แจมยอง ผู้นำพรรคประชาธิปไตยเกาหลี และพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งหมด 5 พรรค ได้ประกาศที่หน้ารัฐสภาว่า จะเปิดการประชุมฉุกเฉินเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ยุน ซ็อกย็อล ลาออก และเริ่มเสนอกระบวนการถอดถอนด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะถูกเสนอในเร็ว ๆ นี้
กระบวนการถอนถอนผู้นำของเกาหลีใต้นั้น จะเกิดขึ้นในสองส่วน ส่วนแรก หากสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งก็คือมากกว่า 201 เสียง จาก 300 เสียง ลงคะแนนถอดถอน และเมื่อผ่านการถอดถอนแล้ว จะมีการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผู้พิพากษาศาลจำนวนมากกว่า 2 ใน 3 หรือก็คือ 6 เสียง จาก 9 เสียงลงมติสนับสนุนการถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกปลดจากตำแหน่ง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลี โดยการถอดถอนครั้งล่าสุด เกิดขึ้นกับอดีต ประธานาธิบดีปาร์ค กึนฮเย ถูกถอดถอนหลังจากการพัวพันการทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องในปี 2016 โดยในตอนนั้น สมาชิกรัฐสภา 234 เสียงได้ลงคะแนนถอดถอน และอีกครั้งย้อนไปในปี 2004 อดีตประธานาธิบดีโร มูฮยอน ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกพักงานเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งให้เขากลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
นอกจากสถานการณ์การเมืองในประเทศแล้ว ยังมีความกังวลเพิ่มเติมถึงความตึงเครียดจากเกาหลีเหนือ ซึ่งประชาชน และนักการเมืองต่างมองว่า การเอาเกาหลีเหนือมากล่าวอ้างเป็นเหตุของการประกาศกฎอัยการศึก อาจส่งผลต่อความไม่พอใจระหว่างประเทศได้
อี แจมยอง ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์นี้ว่า “มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะยั่วยุเกาหลีเหนือ และส่งผลต่อการสงบศึก จนอาจนำไปสู่การขัดแย้งด้วยอาวุธ” ซึ่งเขามองว่าอาจแลกมาด้วยการต้องเสียสละชีวิตของประชาชน
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2024/12/03/asia/south-korea-martial-law-intl/index.html
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/12/356_387615.html
https://www.aljazeera.com/news/2024/12/3/south-koreas-president-declares-emergency-martial-law
https://www.cbsnews.com/news/south-korea-president-martial-law-emergency/
https://en.yna.co.kr/view/AEN20241204000251315
https://www.mk.co.kr/en/politics/11185601
ข่าวแนะนำ