TNN อวกาศไทยมุ่งสู่ดวงจันทร์ Artemis Accord ช่วยพลิกเศรษฐกิจไทย?

TNN

TNN Exclusive

อวกาศไทยมุ่งสู่ดวงจันทร์ Artemis Accord ช่วยพลิกเศรษฐกิจไทย?

อวกาศไทยมุ่งสู่ดวงจันทร์ Artemis Accord ช่วยพลิกเศรษฐกิจไทย?

ประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอวกาศระดับโลกที่นำมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ ภายใต้ข้อตกลง Artemis Accords ข้อตกลง Artemis Accords คืออะไร และ ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วมภารกิจสำรวจอวกาศครั้งนี้

ประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอวกาศระดับโลกที่นำมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ ภายใต้ข้อตกลง Artemis Accords ข้อตกลง Artemis Accords คืออะไร และ ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วมภารกิจสำรวจอวกาศครั้งนี้ 


รู้จัก Artemis Accords

ข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญในการสำรวจอวกาศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ โดยเน้นไปที่การสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารเป็นพิเศษ การลงนามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2020 ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และมีตัวแทนจากบราซิล ออสเตรเลียแคนาดาอิตาลีญี่ปุ่นลักเซมเบิร์กสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร  ซึ่งปัจจุบันมีชาติชั้นนำ รวม 47 ประเทศ ที่เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว


โดยในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ครม. เห็นชอบการลงนามข้อตกลง Artemis Accords โดยมอบหมายให้ GISTDA เป็นหน่วยงานประสานงานหลักของประเทศไทย  ซึ่งการเข้าร่วมArtemis Accords ของไทยถูกคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสในการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ บนเวทีโลก 


ไทยได้อะไรจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Artemis Accords

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่าการเข้าร่วมโครงการ Artemis Accords ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศระดับโลกเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอวกาศ ที่ปัจจุบันมีความตื่นตัวมากขึ้น ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน โดยจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี


ขณะที่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis Accords ผู้อำนวยการ GISTDA คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท  


“เป้าหมายของเราในเร็ววันนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นในการสร้างยานอวกาศของตัวเอง เพื่อไปสำรวจอวกาศ หรือ ดวงจันทร์ แต่การเข้าร่วมกับโครงการอวกาศระดับโลก จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนไทยในการเข้าไปร่วมทำงาน และ ได้รับทั้งองค์ความรู้ และ ประสบการณ์ด้านอวกาศจากชาติชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และ เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยที่จะช่วยกันพัฒนาโครงการอวกาศของไทยในอนาคต”  ดร.ปกรณ์ กล่าว 

 

"ภารกิจสู่ดวงจันทร์" อนาคตอุตสาหกรรมอวกาศไทย 

ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น  ดร.ปกรณ์ เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมามีนักศึกษา และคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้เข้าแจ้งความประสงค์ในการขอหนังสือรับรองจาก  GISTDA เพื่อไปศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีอวกาศในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) จึงเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการสร้างงานด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังว่าอีก 5 ปี ข้างหน้ากลุ่มนักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศชั้นนำด้านอวกาศจะกลับมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทยให้พุ่งทะยานไปมากขึ้น 


สำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) ไม่ใช่การเข้าร่วมภารกิจสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของไทย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2024 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ หรือ International Lunar Research Station: ILRS ภายใต้การนำขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และรัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (ROSCOSMOS) โดยจะมีการทดลองของไทยร่วมเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ในปี 2026 


การเข้าร่วมข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) จึงเปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการอวกาศกับ 2 ขั้วมหาอำนาจของโลก ซึ่งคงต้องจับตาต่อไปว่าการวางบทบาทของไทยจะเปรียบเหมือนการกดปุ่ม ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยได้มากน้อยแค่ไหน 


อ้างอิง : https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=8026&lang=TH

             https://www.nstda.or.th/sci2pub/thailand-and-china-a-new-chapter-in-space-research/


เรียบเรียงโดย : วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง