เปิดปฏิบัติการภารกิจ ‘เฮรา’ อีกก้าวสำคัญสู่หนทางป้องกัน ภัยคุกคามโลกจากดาวเคราะห์น้อย
หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2022 ยานอวกาศ DART จากนาซา พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย “ไดมอร์ฟอส” และเปลี่ยนวงโคจรของมันได้สำเร็จ นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่ออกแบบภารกิจมาเพื่อทดลองและสาธิตวิธีการเปลี่ยนทิศทางดาวเคราะห์น้อยโดยเฉพาะ รวมถึงเป็นก้าวสำคัญต่อการปกป้องโลกจากภัยคุกคามที่มาจากวัตถุอันตรายนอกโลก
ล่าสุด องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA วางแผนกลับไปยังดาวเคราะห์น้อยนี้อีกครั้ง ผ่านภารกิจที่ชื่อว่า “เฮรา” เพื่อมุ่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังการพุ่งชนดาวไดมอร์ฟอสของยานอวกาศ DART อย่างละเอียด และอาจทำให้พวกเขาค้นพบเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะป้องกันให้โลก ไม่สูญสลาย เพราะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน
---ESA ปล่อยยาน “เฮรา” สานต่อภารกิจ DART---
ยานอวกาศ “เฮรา” ออกเดินทางไปพร้อมกับจรวด Space X Falcon 9 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 10.52 น. ตามเวลาสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบผลของการทดสอบเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์ไดมอร์ฟอส และยังเป็นภารกิจสำรวจระบบดาวเคราะห์คู่ครั้งแรกของโลก
ทั้งนี้ ดาวไดมอร์ฟอส เป็นบริวารของดาวเคราะห์น้อยชื่อว่า “ดีดิมอส” ซึ่งก่อนที่ยานอวกาศ DART จะพุ่งชน ไดมอร์ฟอสโคจรรอบดาวดวงนี้เป็นเวลาราว 11 ชั่วโมง 55 นาทีต่อหนึ่งรอบ แต่เมื่อเกิดการชนแล้ว ระยะการโคจรของไดมอร์ฟอสที่มีต่อดีดิมอสสั้นลงเป็นเวลารวม 32 นาที
โดยภารกิจ “เฮรา” จะรวบรวมรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ของโครงสร้างภายใน และคุณสมบัติพื้นผิวของดาวเคราะห์ไดมอร์ฟอส หลังการพุ่งชน ด้วยการใช้อุปกรณ์ขั้นสูง เช่น เรดาร์, กล้องถ่ายภาพความร้อน และเทคโนโลยีภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยดาวเทียม CubeSat จำนวน 2 ลำ และคาดว่าจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส และดาวไดมอร์ฟอส ภายในเดือนตุลาคม ปี 2026
“สิ่งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยเสริมข้อมูลที่ได้จากยานอวกาศ DART เพื่อให้สามารถใช้เทคนิคนี้กับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นในอนาคตได้” เอียน คาร์เนลลี ผู้จัดการโครงการ “เฮรา” แห่ง ESA กล่าว
---ภารกิจปกป้องภัยอันตรายนอกโลก---
ท่ามกลางดวงดาวหลายล้านล้านดวง ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป เป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ต้องกังวล เพราะมีดาวเคราะห์น้อยขนาด 100-300 เมตร ประมาณ 30,000 ดวง อยู่ใกล้โลก และในจำนวนนั้น 82% ยังไม่ถูกค้นพบ แต่ก็มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกทุก ๆ 10,000 ปี ซึ่งหากพุ่งชนโลกจะส่งพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 50 เมกะตัน
ภารกิจ “เฮรา” ซึ่งตั้งชื่อตามเทพีแห่งการแต่งงาน ตามตำนานเทพนิยายกรีก จึงเป็นโครงการของ ESA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศกับนาซา ในการพยายามปกป้องโลก จากดาวเคราะห์น้อย ที่อาจสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในระดับมหาศาล
ข้อมูลต่าง ๆ ที่ภารกิจ “เฮรา” จะได้มา บรรดาผู้เชี่ยวชาญหวังว่า มันจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนการทดลองพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย มาเป็นวิธีการป้องกันโลกจากวัตถุอันตรายนอกโลกได้
“การปกป้องโลกเป็นความพยายามระดับนานาชาติอย่างแท้จริง และผมดีใจมากที่ได้เห็นยานอวกาศเฮราของ ESA ได้อยู่แนวหน้าของความพยายามจากยุโรป เพื่อช่วยปกป้องโลก นี่คือก้าวสำคัญที่ชัดเจนในการยกระดับการมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องโลกของ ESA” โจเซฟ อัชบาเชอร์ ผู้อำนวยการทั่วไปแห่ง ESA กล่าว
---5 ดาวเคราะห์เสี่ยงอันตรายพุ่งชนโลก---
เป็นเวลากว่า 66 ล้านปี ที่อุกกาบาตขนาดมหึมา ชื่อ “ชิกซูลุบ” พุ่งชนโลก ผลกระทบในครั้งนั้น ได้ปล่อยพลังงานเทียบเท่าแรงระเบิด TNT ขนาด 72 ล้านล้านตัน กวาดล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกในช่วงเวลานั้น ไปมากถึง 75% ซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ด้วย เรียกว่า เป็นการสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก หรือ CNEOS ของ NASA ได้ใช้งานระบบตรวจสอบการชน ชื่อว่า “Sentry” เพื่อวิเคราะห์วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย ที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกในอนาคตอย่างต่อเนื่อง และทาง CNEOS ได้จัดอันดับดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง ที่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกมากที่สุด ดังนี้
1.ดาวเคราะห์น้อย ‘เบนนู’: นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ประเมินว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนู มีโอกาส 0.037% หรือ 1 ใน 2,700 ที่จะพุ่งชนโลก ในวันที่ 24 กันยายน 2182
2.29075 (1950 DA): นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า 29075 (1950 DA) เป็นดาวเคราะห์ที่เป็นกองเศษหินรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มีธาตุเหล็ก-นิกเกิลสูง มีโอกาสประมาณ 1 ใน 34,500 หรือคิดเป็น 0.0029% ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 16 มีนาคม 2880
3.2023 TL4: นักดาราศาสตร์คำนวณว่า 2023 TL4 มีโอกาส 0.00055% หรือคิดเป็น 1 ใน 181,000 ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 10 ตุลาคม 2119 และจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 7.5 พันล้านตัน
4.2007 FT3: นาซา คาดการณ์ว่า ดาวเคราะห์น้อยนี้ มีโอกาส 0.0000096% หรือ 1 ใน 10 ล้าน ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 3 มีนาคม 2030 และยังมีโอกาส 0.0000087% หรือ 1 ใน 11.5 ล้าน ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 5 ตุลาคม 2024
5.1979 XB: จากข้อมูลของ CNEOS ดาวเคราะห์น้อย 1979 XB พบครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1979 คาดว่า มีโอกาส 0.000055% หรือ 1.8 ล้าน ที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ จะพุ่งชนโลกในวันที่ 14 ธันวาคม 2113 และจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 30 พันล้านตัน
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.esa.int/Space_Safety/Hera
https://www.heramission.space/mission
https://interestingengineering.com/space/hera-mission-launched-spacex-asteroid
European Space Agency plans return to 'nudged' asteroid Dimorphos - AP
ข่าวแนะนำ