‘นักอนุรักษ์ท้วงซิมบับเว’ หยุดแผนล่าช้างมาทำอาหาร แม้คนนับล้านกำลังหิวโหย
จะเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์ต้องล่าช้างมาเป็นอาหาร เพราะโลกกำลังเผชิญความอดอยากอย่างหนัก ไร้อาหาร ไร้น้ำ ไร้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่
เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงที่ประเทศซิมบับเว เมื่อรัฐบาลจะล้มช้างราว 200 ตัว เป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี เพื่อนำเนื้อของพวกมัน มาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ หลังผู้คนกว่า 16 ล้านคน กำลังเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างหนัก จากภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 40 ปี
การตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากกลุ่มอนุรักษ์ และเรียกร้องให้รัฐบาล หาวิธีแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่านี้
---ซิมบับเวเตรียมล้มช้าง 200 ตัว บรรเทาอดอยาก---
เมื่อกลางเดือนกันยายน รัฐบาลซิมบับเว ออกมาประกาศแผนข่วยเหลือประชาชนจากความหิวโหย ด้วยการจะล้มช้างทั้งหมด 200 ตัว เพื่อนำเนื้อของพวกมันมาแจกจ่ายประชาชนทั่วประเทศ หวังบรรเทาวิกฤตความอดอยากที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลังจากภัยแล้งคุกคามทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้ จนทำให้น้ำ อาหาร ไม่มีเหลือเพียงพอกับประชากรในพื้นที่
“เราจะนำเนื้อไปให้กับกลุ่มเปราะบาง และผมแน่ใจว่า คุณก็รู้ว่า รัฐบาลมีการจัดตั้งระบบอยู่แล้ว ถ้าคุณไปที่กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพียงแค่คลิกเดียว คุณก็จะรู้ได้ว่าใครอยู่ที่ไหน, ใครเป็นกลุ่มเปราะบาง, ผู้สูงอายุ, ผู้ด้อยโอกาส, เด็ก ผู้หญิง และจำนวนฐานข้อมูลมากมายอยู่ที่นั่นหมดแล้ว” ทินาเช ฟาราโว หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร หน่วยงานจัดการอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าว
“เราทำการคัดเลือกช้างครั้งล่าสุด คือปี 1987-1988 ซึ่งหมายความว่า เราไม่ได้เลือกช้างมานานกว่า 30 ปีแล้ว และมันเป็นเวลาที่ยาวนานมาก” เขา กล่าว
ซิมบับเวเป็นหนึ่งในหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากเผชิญภัยแล้งรุนแรง
สหประชาชาติ หรือ UN ประมาณการไว้ว่า ประชาชนในซิมบับเวราว 42% ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจน ผู้คนประมาณ 6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางอาหารระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารขาดแคลน
“เราไม่สามารถทิ้งประชาชนให้ตายไปพร้อมกับความหิวโหยได้ เรามีประชากรช้างมากเกินไป และช้างเหล่านี้ ก็ทำลายที่อยู่อาศัยของพวกเขา และยังทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดการกัดกร่อน ช้างทำลายทุกอย่าง รวมถึงฆ่าคนด้วย” ฟูลตัน แมนกวันยา อธิบดีกรมอุทยานและการจัดการสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าว
---นักอนุรักษ์ประท้วง เรียกร้องยกเลิกแผนล้มช้าง---
แผนการคัดเลือกช้าง เพื่อลดวิกฤตความหิวโหยของซิมบับเวนี้ ถูกนักอนุรักษ์ออกมาประท้วงอย่างหนัก และเรียกร้องให้ยกเลิกแผนดังกล่าว
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มองว่า การดำเนินนโยบายนี้ เป็นปัญหาและขัดขวางความพยายามอนุรักษ์ช้างที่เพิ่มมากขึ้นในซิมบับเวตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา
“เราตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของภัยแล้ง แต่การล่าช้างไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตอาหารอันเร่งด่วนได้มากพอ นอกจากนี้ การคัดเลือกช้างไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเกิดภัยแล้ง การตัดสินใจนี้ เสี่ยงจุดชนวนการรุกรานขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการฆ่าเพื่องาช้างที่ผิดกฎหมายด้วย” เทนนีซัน วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำแอฟริกา กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก ได้เสนอคำแนะนำแก่รัฐบาลซิมบับเว ถึงการแก้ปัญหาวิกฤตความอดอยาก ดังนี้
1.ระยะสั้น: ยกเลิกแผนล่าช้าง และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
2.ระยะยาว: ระดมทรัพยากร เพื่อวางโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่า มีการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำชลประทาน เพื่อใช้ในเกษตรกรรม มากกว่าจะทำการเกษตรแบบพึ่งพาฝนเพียงอย่างเดียว เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
3.ขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อย้ายถิ่นฐานของช้างจากพื้นที่ที่มีประชากรล้น ไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม
---ประชากรช้างล้น จนทำร้ายคนเสียชีวิต---
การคัดเลือกช้าง 200 ตัว เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ อาจดูเป็นตัวเลขที่มาก แต่เมื่อเทียบกับประชากรช้างในประเทศแล้ว จะพบว่า จำนวนช้างที่ถูกเลือกมีเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น เพราะว่า ซิมบับเวมีประชากรช้างมากถึง 85,000 ตัว
เจ้าหน้าที่ซิมบับเว เผยว่า การล้มช้างจำนวนเท่านี้ จะช่วยบรรเทาความอดอยากภายในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาอันตรายจากการเผชิญหน้าระหว่างคนและมนุษย์ด้วย เพราะไตรมาสแรกของปี 2024 มีชาวซิมบับเวเสียชีวิต เพราะถูกสัตว์ทำร้าย 30 ราย โดยช้างคิดเป็น 60% ของสัตว์ที่ทำร้ายมนุษย์จนเสียชีวิต
“ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายชุมชนมากขึ้น เพราะเมื่อสัตว์ไม่มีน้ำ พวกมันก็จะเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อมองหาแหล่งน้ำ จนนำพวกมันเดินทางไปสู่หมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อไม่มีอาหารในป่า พวกมันก็จะเดินหาอาหารไปเนื่อง และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งที่เรากำลังพูดถึงอยู่ขณะนี้” ฟาราโว กล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเผยว่า ช้างล้มตายเพราะโลกร้อนมากกว่าโดนมนุษย์ล่า เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร
“เราต้องคัดเลือกช้างมา 200 ตัว แต่ช้างพวกนี้ เสียชีวิตเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 200 ตัวเสียอีก ฉะนั้น ถ้าเราเลือกมา 200 ตัวแล้ว และยังไม่เพียงพอ เราก็มีสิทธิในทุกอธิปไตย เพื่อล่าช้างมากขึ้น เพราะว่าเรามีช้างมากกว่า 85,000 ตัว เกือบถึง 1 แสนตัว ทั้งที่เราควรจะมีช้างประมาณแค่ 60,000 ตัว หรือน้อยกว่านั้น” แมนกวันยา กล่าว
---นามิเบียก็ล่าช้าง เพื่อความอยู่รอดของประชาชน---
นอกจากซิมบับเวที่ล่าช้างมาแจกจ่ายประชาชนแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนามิเบีย ตัดสินที่จะคัดเลือกสัตว์ป่า 723 ตัวประกอบไปด้วย ม้าลาย 300 ตัว, ละมั่ง และบลูไวลเดอร์บีส อย่างละ 100 ตัว, ช้าง 83 ตัว, ควาย 60 ตัว, อิมพาลา 50 ตัว และฮิปโป 30 ตัว เพื่อแจกจ่ายเป็นอาหารให้ประชาชนเกือบครึ่งประเทศ ที่กำลังเผชิญวิกฤตความอดอยาก
แม้ทั้ง 2 ประเทศ จะถูกตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร แต่ท่ามกลางประชาชนราว 30 ล้านคนทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้เผชิญความหิวโหย วิธีการนี้ อาจจะเป็นทางออกที่ดีสุดสำหรับประเทศพวกเขา
“ผมไม่คิดว่า เราต้องฟังอะไร เพราะตอนนี้ ผมได้รับรายงานเหล่านี้ค่อนข้างเยอะมาก บางคนถึงกับให้คำมั่นว่า “เราจะให้เงินคุณนะ ฉะนั้นอย่าฆ่าช้างเลย” จำนวนพวกนี้ไม่ใช่ความยั่งยืน ในฐานะประเทศ เราเชื่อในการใช้อย่างยั่งยืน แต่เพราะแรงกดดันเหล่านี้จากหน่วยงานทั่วภูมิภาค เราไม่สามารถที่จะทนดูได้อีกต่อไป” แมนกวันยา กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
Zimbabwe defends elephant cull to ease drought driven hunger - AFP
https://www.cnn.com/2024/08/28/climate/namibia-kill-elephants-meat-drought/index.html
https://www.worldanimalprotection.org/latest/press-releases/zimbabwes-government-elephant-cull/
ข่าวแนะนำ