ทำความรู้จัก “2024 PT5” เมื่อโลกจะมีดวงจันทร์ 2 ดวง ยาวนานเกือบ 2 เดือน
โลกกำลังจะมีดวงจันทร์เป็นดาวบริวารดวงที่ 2 เร็ว ๆ นี้ แต่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น หลังนักดาราศาสตร์เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับดาวบริวารดวงที่ 2 ของโลก พร้อมคาดการณ์การโคจรรอบโลกไว้ในวารสาร AAS Research Notes เมื่อต้นเดือนกันยายน
แต่ทว่า ดวงจันทร์ดวงที่ 2 ผู้จะปรากฎกายเป็นเวลาสั้น ๆ รอบโลกนี้ คืออะไร และการโคจรของมันเป็นอย่างไร บทความนี้ รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้ให้
---“ดวงจันทร์จิ๋ว” ดาวบริวารโลกดวงที่ 2---
ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน ถึง 25 พฤศจิกายน แรงโน้มถวงของโลก จะดึงดูดดาวเคราะห์น้อย ชื่อว่า “2024 PT5” ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “มินิมูน” หรือ “ดวงจันทร์จิ๋ว” เข้าสู่วงโคจรบางส่วนของโลก เป็นระยะเวลารวมทั้งหมด 56 วัน หรือเกือบ 2 เดือน หลังจากนั้น เจ้าดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้ จะหลุดพ้นออกจากวงโคจร มุ่งหน้าสู่แถบดาวเคราะห์น้อย ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ของเราและโคจรรอบดวงอาทิตย์
“ดวงจันทร์จิ๋ว” ดวงนี้ ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยกล้องโทรทรรศน์ Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System หรือ ATLAS ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางโครงการนาซา โดยดวงจันทร์จิ๋ว 20244 PT5 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 10 เมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดดวงจันทร์ ดาวบริเวณที่อยู่คู่โลกมานานถึง 4,000 ล้านปี อยู่ที่ 3,475 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม คาร์ลอส เด ลา ฟูเอนเต มาร์กอส นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด และเป็นผู้นำเขียนผลการศึกษาเรื่องนี้ เผยว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสังเกตการณ์และข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ เพื่อกำหนดขนาดของดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้ได้อย่างแม่นยำ
---เส้นทางการโคจร “ดวงจันทร์จิ๋ว” เป็นอย่างไร---
ในช่วงเวลา 56 วัน ที่ “ดวงจันทร์จิ๋ว” อยู่ใกล้โลก มันจะโคจรรอบโลกในรูปแบบวิถีเกือกม้า ด้วยความเร็วสัมพัทธ์ 3,280 ฟุตต่อวินาที ขณะเดินทางผ่านโลก ก่อนที่จะหลุดออกจากแรงดึงดูดของโลก เพื่อกลับเข้าสู่วงโคจรปกติรอบดวงอาทิตย์ ในวันที่ 25 พฤจิกายน
นักดาราศาสตร์ คาดว่า ดวงจันทร์จิ๋วเดินทางมาจากแถบดาวเคราะห์น้อยอรชุน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกกลุ่มหนึ่ง มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เกือบเหมือนวงโคจรของโลก การที่มีวงโคจรเกือบเหมือนโลก ทำให้มีความเร็วสัมพัทธ์กับโลกต่ำ จึงมีโอกาสถูกแรงโน้มถ่วงของโลกคว้าจับเอาไว้ได้
มาร์กอส อธิบายว่า วัตถุดาราศาสตร์บางดวงจากแถบดาวเคราะห์น้อยอรชุน สามารถเข้าใกล้โลกได้มากถึง 4.5 ล้านกิโลเมตร และมีความเร็วต่ำประมาณที่ 3,540 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้พลังงานศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของวัตถุอาจติดลบ และอาจกลายเป็นดวงจันทร์ของโลกชั่วคราว ดาวเคราะห์ 2024 PT5 นี้ จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการนี้ภายในสัปดาห์หน้า และจะอยู่ในวงโคจรโลกเป็นเวลา 2 เดือน” มาร์กอส กล่าว
“มันจะไม่วิ่งรอบโลกแบบครบวงโคจร… หากดวงจันทร์เปรียบเสมือนลูกค้าที่ซื้อของภายในร้าน วัตถุอย่าง ‘2024 PT5’ คือ คนที่เข้ามาเดินดูของในร้านเฉย ๆ” เขา กล่าวเสริม
---“ดวงจันทร์จิ๋ว” เกิดขึ้นได้อย่างไร---
มาร์กอส อธิบายว่า การที่วัตถุชิ้นหนึ่งจะกลายเป็นดวงจันทร์จิ๋วได้ วัตถุชิ้นนั้น จะต้องเข้าใกล้โลกในระยะห่าง 4.5 ล้านกิโลเมตร และมีความเร็วอย่างต่ำ 3,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“ดวงจันทร์จิ๋ว” มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ Temporarily-Captured Orbiters หรือ TCOs และ Temporarily-Captured Flybys หรือ TCFs
Temporarily-Captured Orbiters หรือ TCOs เป็นดวงจันทร์จิ๋วที่ถูกดึงดูดโดยแรงโน้มถ่วงโลกเป็นระยะเวลานาน ดวงจันทร์จิ๋วประเภทนี้ จะโคจรรอบโลก 1 รอบ หรือ โคจรแบบครบวง กล่าวง่าย ๆ คือ มันจะโคจรรอบโลกอย่างน้อย 1 รอบ ถึงจะจัดให้เป็นดวงจันทร์จิ๋วแบบ TCOs และดวงจันทร์จิ๋วเหล่านี้ จะอยู่ในวงโคจรโลกเป็นเวลาหลายเดือน หรือ หลายปี ก่อนที่จะหลุดออกจากแรงดึงดูดโลก
Temporarily-Captured Flybys หรือ TCFs เป็นดวงจันทร์จิ๋ว ที่อยู่ในวงโคจรโลกไม่นาน และโคจรไม่ครบรอบ นั่นหมายความว่า ดวงจันทร์จิ๋ว 2024 PT5 คือ ดวงจันทร์จิ๋วประเภท TCFs นั่นเอง ดวงจันทร์จิ๋วกลุ่มนี้ จะถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงดูดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะหลุดออกจากวงโคจรโลกไป
---จะเห็น “ดวงจันทร์จิ๋ว” ได้อย่างไร---
การมองเห็นดวงจันทร์จิ๋ว “2024 PT5” ด้วยตาเปล่าเป็นเรื่องที่ยากมาก หรือใช้กล้องโทรทรรศน์ทั่วไป เพื่อชมวัตถุนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันมีขนาดที่เล็กมาก และยังมีแสงสว่างในตัวที่ค่อนข้างน้อย
การจะมองเห็นดวงจันทร์จิ๋วนี้ คุณจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรรศน์ระดับมืออาชีพ ที่บรรดานักดาราศาสตร์จะใช้กัน เพื่อสังเกตการณ์ดวงดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า
“จะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 30 พร้อมกับกล้องตรวจจับ CCD หรือ CMOS เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังเกตการณ์วัตถุชิ้นนี้ กล้องโทรทรรศน์ขนาด 30 นิ้ว และตามนุษย์เปล่า ๆ ที่ส่องอยู่ด้านหลังกล้อง ไม่เพียงพอที่จะมองเห็นมัน” มาร์กอส กล่าว
---โลกเคยมี “ดวงจันทร์จิ๋ว” มาแล้ว---
แม้ดวงจันทร์จิ๋วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่โลกก็มีบันทึกการตรวจพบดวงจันทร์จิ๋วครั้งแรก มาตั้งแต่ปี 2006 โดยในปีดังกล่าว ดาวเคราะห์น้อย ชื่อว่า “2006 RH120” ได้รับการยินยันว่า เป็นดวงจันทร์จิ๋วดวงแรกของโลก ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เมตร และถูกดึงดูดเข้าสู่วงโคจรของโลกราว 1 ปี
หลังจากนั้น ปี 2020 ดวงจันทร์จิ๋ว ถูกค้นพบอีกครั้ง โดยมีชื่อว่า “2020 CD3” มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-4 เมตร และอยู่ในวงโคจรโลกเป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี
ต่อมา ดาวเคราะห์น้อย ชื่อ “2022 NX1” กลายเป็นดวงจันทร์จิ๋วของโลก ซึ่งพบในปี 1981 และ 2022 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-15 เมตร เป็นดวงจันทร์จิ๋ว กลุ่ม TCFs เนื่องจากอยู่ในวงโคจรโลกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มันจะกลับมาอีกครั้งในปี 2051
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เชื่อว่า ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำ จนโลกอาจจะมีดวงจันทร์จิ๋วใกล้ ๆ วงโคจรอยู่ตลอดเวลา
---“2024 PT5” จะกลับมาในปี 2025---
หลังดวงจันทร์จิ๋ว “2024 PT5” หลุดออกจากวงโคจรโลกไปแล้ว มันจะกลับเข้ามาสู่ใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 9 มกราคม 2025 เป็นเวลาสั้น ๆ แล้วคาดว่า จะกลับมาอีกรอบเป็นเวลาไม่กี่วันในเดือนพฤศจิกายน 2055 และอีกครั้งจะเป็นปี 2084 ซึ่งจะอยู่ในวงโคจรโลกเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูล:
https://www.usatoday.com/story/graphics/2024/09/19/asteroid-mini-moon-2024-pt5/75260498007/
https://edition.cnn.com/2024/09/20/science/earth-asteroid-mini-moon/index.html
https://www.space.com/earth-mini-moon-asteroid-2024-pt5
https://time.com/7022535/earth-second-moon-temporary/
https://www.aljazeera.com/news/2024/9/21/earth-to-get-a-mini-moon-for-two-months-but-what-is-it
https://indianexpress.com/article/explained/express-explained-what-is-mini-moon-6290115/
ข่าวแนะนำ