TNN ขึ้นค่าแรง 400 ไม่มาตามนัด? ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรง หวั่นเพิ่มต้นทุน

TNN

TNN Exclusive

ขึ้นค่าแรง 400 ไม่มาตามนัด? ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรง หวั่นเพิ่มต้นทุน

ขึ้นค่าแรง 400 ไม่มาตามนัด? ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรง หวั่นเพิ่มต้นทุน

การประชุมคณะกรรมกาค่าจ้าง วาระพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รอบ 3 ปี 2567 ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าสุดท้ายแล้ว เป้าหมายขยับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาลหรือไม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) เวลา 13.30 น.ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เชิญกรรมการไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายราชการ ฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน มาประชุมที่กระทรวงแรงงาน
  
โดยนายพิพัฒน์ขอความกรุณากรรมการทั้ง 3 ฝ่ายว่า ขอให้เข้ามาประชุมในวัน เวลา ดังกล่าว ตามที่กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือเชิญไป ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในวันพรุ่งนี้ โดยจะมีการชี้แจงข้อมูลทางวิชาการเปรียบเทียบให้ท่านดู รวมทั้งการนำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตอบรับมาบ้างแล้วสำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยมาตรส่วนใหญ่เราจะล้อมาจากปี 2555 ที่เคยเป็นมาตรการจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และอาจจะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย

ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง)  ชี้แจงกรณีฝ่ายนายจ้าง 5 คน ได้ลาการประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายลูกจ้าง เลื่อนพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งที่ 3 ของปี 2567 ว่า การประชุมวันที่ 20 กันยายนนี้ว่าไม่ได้เป็นการเล่นเกม แต่เพราะมีการเลื่อนประชุมจากเดิมที่นัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน มาเป็นวันดังกล่าว ซึ่งปกติทุกวันจันทร์เจ้าของธุรกิจมักติดภารกิจสำคัญในการบริหารองค์กรของแต่ละคนอยู่แล้ว  ซึ่งทางคณะกรรมการฯฝั่งนายจ้างได้มีการแจ้งวันว่างไปให้กับฝ่ายเลขาฯแล้ว แต่กลับมีการนัดประชุมในวันที่ 16 กันยาย ซึ่งฝั่งนายจ้างไม่มีใครว่างเข้าประชุมในวันดังกล่าวจึงขอลากิจ 


โดยการประชุมในวันที่ 20 กันยายน ยืนยันจะเข้าประชุมแน่นอน แต่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท หรือไม่นั้น คงต้องรอมติจากที่ประชุมเสียก่อน สำหรับขั้นตอนของการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของคณะกรรมการค่าจ้างนายอรรถยุทธ ชี้แจงว่า มี 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกที่ประชุมจะหารือว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ ถ้ามีการเสนอปรับขึ้นจะพิจารณาต่อว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ จากนั้นถึงจะกำหนดว่าจะมีปรับขึ้นในช่วงระยะเวลาไหน   โดยก่อนจะถึงขั้นตอนดังกล่าวจะมีการพิจารณาโดยอนุกรรมการค่าจ้าง 77 จังหวัด ซึ่งจะคิดจากข้อมูลของแต่ะพื้นที่ ทั้งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ของแต่ละจังหวัด จากนั้นจึงนำเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองและ นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ 

“ผมไม่เคยพูดว่าจะขึ้น หรือ ไม่ขึ้นค่าจ้าง หรือจะขึ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่  แต่ยินดีที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างให้ทุกปี ตามความเหมาะสม และ เป็นธรรม ตามามาตรา 87  ซึ่งปกติแล้วก่อนจะมีการประชุมจะไม่สามาราถบอกได้ว่าครั้งนี้จะขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ เพราะเป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย ถือเป็นมารยาทที่จะไม่พูดตัวเลขก่อนการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง” นายอรรถยุทธ ยืนยัน

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการฝั่งนายจ้าง เปิดเผยว่าจุดยืนของนายจ้างไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพราะในปี 2567 มีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วถึง 2 ครั้ง ทำไมถึงจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทให้ทันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และ ไม่เห็นด้วยที่จะนำนโยบายพรรคการเมืองมาแทรกแซงการปรับขึ้นค่าจ้าง 

สอดคล้องกับความเห็นของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา "Accelerate Thailand ขับเคลื่อนไทยไปเชื่อมโลก" จัดโดย TNN โดยมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมโดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว 


“ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท แต่ควรขึ้นให้เหมาะสม เพราะการขึ้นค่าแรงมี 2 ขา ข้างหนึ่งเราได้ช่วยคนที่ใช้แรงงานให้มีรายได้เพิ่ม แต่ในมุมหนี่งเราต้องดู SMEs ด้วย เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในสภาอุตสาหกรรมยังเป็นแรงงานเข้มข้น ถ้าเราไปเพิ่มต้นทุนให้เขาอีก เขาอาจอยู่ไม่ได้เขาจะล้มเสียก่อน” นายเกรียงไกร กล่าว

ประธาน ส.อ.ท. มองว่าการเพิ่มค่าแรงที่เหมาะสมมีกลไก “ไตรภาคี” ซึ่งก็คือ นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ แต่ละจังหวัด แต่ละท้องที่ เขาจะดูค่าครองชีพ ดูความจำเป็น ดูคความต้องการและ ปรับที่เหมาะสม ซึ่งมันจะไม่เท่ากันทั่วประเทศ แต่จะเหมาะสมทุกคนอยู่กันได้ แล้วรอให้แข็งแกร่งอีกหน่อย เมื่อเริ่มมีนโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ SMEs แข็งแรงขึ้นเราจึงค่อย ปรับ  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะในปัจจุบันเราทีศัตรูที่แข็งแกร่งที่สุกในโลก เป็นโลกงานของโลกอย่างประเทศจีน

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วาระพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รอบ 3 ปี 2567 ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าสุดท้ายแล้ว เป้าหมายขยับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาลหรือไม่ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง