
การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอรด์ค่าจ้าง ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งมีทั้ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ หลังจากที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ประกาศจะผลักดันการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศให้ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2568 ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 สาขาอาชีพ 13 สาขาและ แนวทางการทบทวน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุม เปิดเผยว่า บอร์ดค่าจ้างยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท โดยมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายเลขาฯ ไปสำรวจผลกระทบ จากการขึ้นค่าจ้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 และจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 เมษายน 2568 ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง
โดยดูทั้งสภาพเศรษฐกิจ ภาวะการเจริญเติบโต สภาพการจ้าง รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่ามีสาขาได้บ้างที่ขับเคลื่อนได้ รวมถึงพิจารณาแบบสอบถามต่างๆ เพื่อสำรวจผลกระทบ จากการขึ้นค่าแรง เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายจ้างและลูกจ้างต้องอยู่ได้ ซึ่งเป็นไปกรอบของกฎหมาย จากนั้นจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป

สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีการพิจารณาทบทวนค่าจ้าง 129 อาชีพที่จะได้รับการพัฒนาและได้รับค่าแรงเกินกว่า 400 บาท และจะพิจารณาอีก 13 สาขาอาชีพที่ยังมีค่าแรงต่ำกว่า 400 บาท
ขณะเดียวกันการประชุมเมื่อวานนี้(12 มี.ค.) ยังไม่ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของบอร์ดค่าจ้างชุดปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในวันนี้ (13 มี.ค. 2568 ) โดยบอร์ดค่าจ้างชุดนี้ จะรักษาการและปฏิบัติตามกฎหมายได้ไปก่อนจนกว่าจะแต่งตั้งบอร์ดค่าจ้างชุดใหม่
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะทัน วันที่ 1 พ.ค. 2568 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศหรือไม่นั้น บอร์ดค่าจ้างจะพยายามทำให้เป็นไปตามมติ ซึ่งการดำเนินงานของบอร์ดค่าจ้างชุดใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบถึง ความต่อเนื่องในการดำเนินงานอย่างแน่นอน เพราะเป็นภารกิจที่กำหนดไว้ ตามกฎหมาย