‘5 ดาวเคราะห์น้อย’ สุดอันตรายที่ NASA ชี้เสี่ยงพุ่งชนโลกมากที่สุด
เป็นเวลากว่า 66 ล้านปี ที่อุกกาบาตขนาดมหึมา ชื่อ “ชิกซูลุบ” พุ่งชนโลก ผลกระทบในครั้งนั้น ได้ปล่อยพลังงานเทียบเท่าแรงระเบิด TNT ขนาด 72 ล้านล้านตัน กวาดล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกในช่วงเวลานั้น ไปมากถึง 75% ซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ด้วย เรียกว่า เป็นการสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก หรือ CNEOS ของ NASA ได้ใช้งานระบบตรวจสอบการชน ชื่อว่า “Sentry” เพื่อวิเคราะห์วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย ที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกในอนาคตอย่างต่อเนื่อง และทาง CNEOS ได้จัดอันดับดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง ที่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกมากที่สุด
1.ดาวเคราะห์น้อย ‘เบนนู’
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 0.49 กิโลเมตร
มวลน้ำหนักรวม: 74 ล้านตัน
ดาวเคราะห์น้อย ‘เบนนู’ ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนกันยายน 1999 มีชื่อทางการว่า “101955 Bennu (1999RQ36)” ถือเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะพุ่งชนโลก แม้ว่าเปอร์เซนต์ความเสี่ยงนั้นจะยังคงอยู่ในระดับต่ำก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ประเมินว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนู มีโอกาส 0.037% หรือ 1 ใน 2,700 ที่จะพุ่งชนโลก ในวันที่ 24 กันยายน 2182
เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเบนนูให้มากที่สุด พวกเขาเชื่อว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้ แตกออกมาจากดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เมื่อประมาณ 2 พันล้าน - 700 ล้านปีก่อน
ภารกิจยานอวกาศ OSIRIS-REx ได้เก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูส่งมายังโลก เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2023 พร้อมทำการศึกษาวิจัยจากตัวอย่างหินดังกล่าว แล้วพบว่า เบนนูมีองค์ประกอบสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เช่น กรดอะมิโนไกลซีน และแร่ธาตุที่มีน้ำ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่า ดาวเคราะห์ต้นกำเนิดของเบนนู มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับน้ำอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่จะแตกแยกออกมา
ทั้งนี้ ถ้าดาวเบนนูพุ่งชนโลก มันจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 1.4 พันล้านตัน ทำให้เกิดการทำลายล้างในระดับภูมิภาค แต่ความเสียหายจะยังไม่ส่งผลในระดับโลก และถ้าเบนนูตกลงในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตนับล้าน
2.29075 (1950 DA)
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.3 กิโลเมตร
มวลน้ำหนักรวม: 78 ล้านตัน
ดาวเคราะห์ที่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกเป็นอันดับที่ 2 คือ ดาวเคราะห์ 29075 (1950 DA) ค้นพบครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1950
นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า 29075 (1950 DA) เป็นดาวเคราะห์ที่เป็นกองเศษหินรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มีธาตุเหล็ก-นิกเกิลสูง มีโอกาสประมาณ 1 ใน 34,500 หรือคิดเป็น 0.0029% ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 16 มีนาคม 2880
ถ้า 29075 (1950 DA) พุ่งชนโลก มันจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 75 พันล้านตัน ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ในระดับโลก และอาจกวาดล้างมวลมนุษยชาติให้สูญสิ้นไป
3.2023 TL4
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 0.33 กิโลเมตร
มวลน้ำหนักรวม: 47 ล้านตัน
2023 TL4 พบครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2023 เป็นดาวเคราะห์ดวงล่าสุดที่ถูกค้นพบ และจัดให้เป็นหนึ่งในวัตถุที่อาจเป็นอันตรายมากที่สุดต่อโลก
นักดาราศาตร์คำนวณว่า 2023 TL4 มีโอกาส 0.00055% หรือคิดเป็น 1 ใน 181,000 ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 10 ตุลาคม 2119 และจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 7.5 พันล้านตัน
4.2007 FT3
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 0.34 กิโลเมตร
มวลน้ำหนักรวม: 54 ล้านตัน
2007 FT3 ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2007 ได้รับการนิยามว่า “เป็นดาวเคราะห์น้อยที่สูญหาย” เนื่องจากนักดาราศาสตร์ไม่ได้พบเจอดาวดวงนี้อีกเลย ตั้งแต่ปีที่ถูกพบ
นาซา คาดการณ์ว่า ดาวเคราะห์น้อยนี้ มีโอกาส 0.0000096% หรือ 1 ใน 10 ล้าน ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 3 มีนาคม 2030 และยังมีโอกาส 0.0000087% หรือ 1 ใน 11.5 ล้าน ที่จะพุ่งชนโลกในวันที่ 5 ตุลาคม 2024
ถ้าหากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ พุ่งชนโลกในปี 2024 หรือ 2030 จะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 2.6 พันล้านตัน มากพอที่จะทำลายล้างได้ในระดับภูมิภาค แต่ไม่ก่อให้เกิดหายนะเป็นวงกว้างในระดับโลก
5.1979 XB
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 0.66 กิโลเมตร
มวลน้ำหนักรวม: 390 ล้านตัน
ดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่สูญหายไปจากสายตานักดาราศาสตร์ หลังถูกค้นพบแล้ว คือ ‘1979 XB’ ซึ่งไม่ถูกมองเห็นมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว ทำให้นักดาราศาสตร์มีข้อมูลเกี่ยวกับวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้น้อยมาก ๆ
จากข้อมูลของ CNEOS ดาวเคราะห์น้อย 1979 XB พบครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1979 คาดว่า มีโอกาส 0.000055% หรือ 1.8 ล้าน ที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ จะพุ่งชนโลกในวันที่ 14 ธันวาคม 2113 และจะปล่อยพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT ขนาด 30 พันล้านตัน
---ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับ 0---
แม้แนวคิดเรื่องดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ดาวเคราะห์ทั้งหมดเหล่านี้ จัดให้เป็นอันตรายต่อโลกใน “ระดับ 0” หรือ “ระดับสีขาว” ตามมาตรวัดอันตรายจากการชนปะทะทอริโน
มาตรวัดทอริโน จะกำหนดระดับความเสี่ยงของดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลก และผลกระทบที่จะตามมา ตั้งแต่ระดับ 0-10
ระดับ 0 หรือ ระดับสีขาว เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลก โดยระดับนี้ ไม่ได้ใช้เพียงกับแค่ดาวเคราะห์น้อยเท่านั้น แต่รวมถึงวัตถุขนาดเล็กจากอวกาศ ที่จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ และไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อโลก
ส่วนระดับ 8-10 เป็นระดับความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยมีโอกาสพุ่งชนโลกสูง และสร้างความเสียหายตั้งแต่ระดับท้องถิ่น (ระดับ 8), ระดับภูมิภาค (ระดับ 9) และหายนะระดับโลก (ระดับ 10) ซึ่งเป็นระดับคุกคามอนาคตของมวลมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ไม่มีวัตถุดาราศาสตร์ใด ๆ ที่มีความเสี่ยงอยู่เกินระดับ 0 ตามตารางของ Sentry Risk แม้ดาวเคราะห์น้อยเบนนู และ 1950 DA ซึ่งมีโอกาสพุ่งชนโลกมากสุด ในบรรดา 5 ดาวเคราะห์น้อย ปัจจุบัน ทั้ง 2 ดวง ยังไม่ได้รับการจัดอันดับตามมาตรวัดทอริโน เพราะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น อยู่ห่างไกลไปอีก 100 ปี นาซา จึงรับรองว่า ยังไม่มีภัยคุกคามสำคัญจากดาวเคราะห์น้อยที่ส่งผลต่อโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า
แต่ถึงกระนั้น ยังคงมีวัตถุอันตรายบนอวกาศที่อาจจะพบในอนาคต โดยเฉพาะดาว หรือ วัตถุบางชิ้น ที่อาจหลบซ่อนอยู่ใต้แสงดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทาง CNEOS ยังคงต้องคอยติดตามสอดส่องบนฟากฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลกดวงใหม่ และอาจเป็นภัยคุกคามได้ในอนาคต
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.express.co.uk/news/science/1834582/asteroids-strike-solar-system-earth-spt
ข่าวแนะนำ