ฝ่าทางตันปลดล็อกกับดัก เมื่อโลกแบ่งขั้วอาจฉุดรั้ง ความเป็นอยู่มนุษย์ให้ตกต่ำลง
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขี้นในหลายประเทศ หลังต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักหน่วง มาในวันนี้ เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนดั่งเดิม
ขณะเดียวกัน แม้มนุษย์และเทคโนโลยีหลังยุคโควิดจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ความท้าทายใหม่ก็อุบัติขึ้นตลอดเวลา จนบางกรณีก็ยากเกินที่จะรับมือไหว
ความท้าทายที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วโลกจะรับมือต่อจากนี้อย่างไร ?
---ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเดิมที่แก้ไม่ตก---
จากรายงานการพัฒนามนุษย์ ประจำปี 2566 ของ UNDP เปิดเผยว่า แม้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI ทั่วโลกจะฟื้นตัว แต่การพัฒนายังมีความกระจุกตัว โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
ก่อนหน้านี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและประเทศที่ยากจนที่สุดมีแนวโน้มหดแคบลง แต่ช่องว่างดังกล่าวกลับกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนัก
ประเทศที่มีรายได้สูงกำลังบรรลุการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ประเทศยากจนที่สุดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปยังระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้
ด้านประเทศไทยมีคะแนน HDI สูงกว่าก่อนที่จะเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับประเทศสมาชิก OECD 38 ประเทศ โดย HDI ของประเทศไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 0.803 จาก 0.797 ในปี 2564 และสูงกว่าระดับ 0.801 ในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยอยู่ในอันดับที่ 66 จาก 193 ประเทศทั่วโลก
ถึงไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในด้านการพัฒนามนุษย์ในภาพรวม แต่ยังคงมีความท้าทายในด้านความเหลื่อมล้ำ เพราะเมื่อคำนึงถึงความไม่เท่าเทียม จะเห็นได้ว่า ค่า HDI ของประเทศไทยลดลง 15.2% เหลือเพียง 0.681 และแม้ว่า ไทยจะมีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายด้านการขจัดความยากจน แต่ถือว่า ยังมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
---สิ่งแวดล้อม การแก้ไขที่ถูกลืม---
อีกหนึ่งปัจจัยที่เรียกได้ว่า เป็นความท้าทายอย่างมาก ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้อากาศทั่วโลกเกิดความแปรปรวน กระทบทุกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ แต่ในช่วงที่ทั่วโลกพยายามเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย
ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติในปี 2566 ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างบูรณาการ หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหานี้อาจกลายเป็นชนวนระเบิดซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ราว 50% มีความคืบหน้าที่ล่าช้า หรือ ดำเนินการเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายไม่เพียงพอ โลกยังมีความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ทำไมสิ่งแวดล้อมยังแย่ลง อาจเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมานานมาก ตั้งแต่ก่อนโควิดด้วยซ้ำ สังคมไทยให้ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย โดยเปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่ของสังคม ฉะนั้น เมื่อเรากลับขึ้นมาในสภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้นมา เราก็ยังคงลืมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปก่อน เพราะเราเห็นว่า หลังโควิดเราให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ และรายได้ที่หายไป” รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ กสว. กล่าว
รศ.ดร.นิรมล กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะยิ่งแย่ลงกว่าเดิม เพราะเราเร่งบูสต์ เร่งให้ฟื้นโตเร็ว เพราะว่า เราเร่งฟื้นให้เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด เหมือนกับติดคันเร่ง พอติดคันเร่ง เศรษฐกิจเลยเติบโตจนละเลยสิ่งแวดล้อม เพราะเอารายได้ก่อน ก็เลยทำให้ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ดีขึ้น
“คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี แม้ว่าจะมีการศึกษาดี แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดี การงานเขาก็ไม่ดีไปด้วย สุขภาพก็จะไม่ดีไปด้วย จะมีหนทางอะไรบ้างที่รัฐ หรือ คนที่มีโอกาสดีอย่างดิฉันจะเข้าไปช่วยพวกเขา ปกป้องคุ้มครองพวกเขา เพราะพวกเขาไม่มีศักยภาพ” รศ.ดร.นิรมล กล่าว
---ความขัดแย้งทั่วโลก ทำโลกปั่นป่วน---
จากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ลุกลามอย่างรวดเร็วเกินกว่าระบบที่มีอยู่จะสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ผลจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆในระดับโลก ประกอบกับการที่ระบบในปัจจุบันไม่สามารถปกป้องผู้คนได้อย่างเหมาะสม จึงนำไปสู่การแบ่งขั้วที่รุนแรงมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่นโยบายที่มุ่งเน้นการปกป้องประเทศของตน
สงครามอิสราเอล-ฮามาส, รัสเซีย-ยูเครน และที่อื่น ๆ ตลอดจน ความรุนแรงโดยกลุ่มอันธพาลและความไม่มั่นคงของพลเมือง ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง กระทั่งสั่นคลอน จนอาจพังทลายลง ความขัดแย้งในระดับมหภาค ซึ่งมีมหาอํานาจ เข้ามาเกี่ยวข้องก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งความรุนแรงและสันติภาพแพร่ขยายได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร การปฏิวัติ และการเปลี่ยนผ่านด้านประชาธิปไตย มักส่งผลข้างเคียง ความขัดแย้งมักเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสงคราม ทําให้คนยอมรับสงครามมากขึ้น และเพิ่มความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความรุนแรงในที่อื่น
นโยบายเช่นนี้ ขัดแย้งกับความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน การจัดการกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่ผิด และการแก้ไขข้อพิพาทต่าง ๆ
“นั่นเป็นเรื่องยากมากสำหรับสังคม ที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เรารู้ว่าความขัดแย้งมากมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากร การต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราทุกคนต้องการในฐานะโลกสากล” เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNDP กล่าว
“เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาของเรา การเติมเต็มความปรารถนาของผู้คน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และยิ่งมีคนบนโลกนี้มากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องยอมรับการแบ่งปันมากขึ้นเท่านั้น และน่าเสียดายที่เราเห็นว่า ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และแน่นอนว่า มันเป็นเรื่องจริงระหว่างประเทศด้วย”
“ดังนั้น ผมคิดว่าเราต้องตระหนักให้ดีว่า สงครามไม่ได้จู่ ๆ จะปะทุขึ้นเช่นนี้ มันมีสาเหตุที่ซ่อนอยู่ และยิ่งเรารอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้นานเท่าไร สังคมโลกและโลกของเราก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น" เขา กล่าว
---ฝ่าทางตัน ปลดล็อกกับดักโลกแบ่งขั้ว---
ความล้มเหลวในการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัล ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงแต่ขัดขวางความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำให้ความแตกแยกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และกัดกร่อนความไว้วางใจในผู้คนและระบบที่มีอยู่ทั่วโลก
เพื่อฝ่าทางตัน รายงานฉบับนี้ ได้เน้นย้ำในประเด็นการพัฒนาสินค้าสาธารณะระดับโลก (global public goods) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ หลุดพ้นจากกรอบความคิดที่ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งเท่ากับการสูญเสียของอีกฝ่าย (zero-sum thinking) และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกัน ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ซึ่งรวมถึง การพัฒนาสินค้าสาธารณะระดับโลกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสินค้าสาธารณะระดับโลกด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่อย่างยุติธรรมและส่งเสริมความก้าวหน้าของมนุษย์อย่างสมดุลและเท่าเทียม
แต่ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกลไกทางการเงินแบบองค์รวม ซึ่งรวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อเสริมกับกับความช่วยเหลือทางการเงินด้านมนุษยธรรมและเงินช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาในรูปแบบดั้งเดิม
รายงานฉบับนี้ ได้เสนอแนวทางการลดการแบ่งขั้วทางการเมือง โดยการใช้กลยุทธ์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของประชาชนและจัดการกับข้อมูลอันเป็นเท็จ
นอกจากนี้ ยังได้แนะนำกลยุทธ์ในการส่งเสริมอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบที่ให้คนเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างการเป็นเจ้าของร่วมกัน และเหมาะสมกับอนาคต เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการตัดสินใจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของรัฐบาลและสังคม เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์ เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/2024-05/undp_th_hdr23_standalone_overview_1.pdf
ข่าวแนะนำ