ในยุคที่ “แอปหาคู่” ล้นตลาด แต่ทำไม “ความโสด” กลับเพิ่มขึ้น?
แอปหาคู่นั้นมีมากมายในท้องตลาด แต่ “ความโสด” ของผู้คนในปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นสูง อาจจะมาจาก “การช่างเลือก” ของแต่ละบุคคลผ่านเครื่องมือในแอปหาคู่ที่เรียกว่า “ฟิลเตอร์”
ในปัจจุบัน เชื่อได้ว่า หลายคนต้องเคยเล่น “แอปหาคู่” ให้เลือกปัดขวาเพื่อหาคนที่ใช่ สไตล์ที่ชอบมาพูดคุยเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ หรืออาจจะแต่งงานมีครอบครัวกันในบั้นปลาย
แอปหาคู่นั้นมีมากมายในท้องตลาด แต่ “ความโสด” ของผู้คนในปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นสูง จึงเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น?
ปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดความโสดมากขึ้น อาจไม่ได้มาจากการที่ไม่มีใครเลือก หรือที่สังคมรุ่นเก่า ๆ เรียกว่า “ขึ้นคาน” แต่อาจจะมาจาก “การช่างเลือก” ของแต่ละบุคคลผ่านเครื่องมือในแอปหาคู่ที่เรียกว่า “ฟิลเตอร์”
ไม่รู้จะรักใครดี
ในงานศึกษา The filtered encounter: Online dating and the problem of filtering through excessive information เสนอว่า การมี “ฟิลเตอร์” ในแอปหาคู่ ช่วยให้เกิดทางเลือกที่มากขึ้นของผู้ใช้ ทำให้ช่วยคัดกรองผู้คนที่อาจจะเข้ากันได้กับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า “เพิ่มเงื่อนไข” ของผู้ใช้มากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
การมีฟิลเตอร์แบบนี้ ทำให้ผู้ใช้คิดว่า ตนนั้นก็มีตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องลงหลักปักฐานกับผู้ที่แมทช์กันตั้งแต่ครั้งแรกเสมอไป
แอปหาคู่ส่วนมากคล้ายกับ “สายน้ำ” ที่จะต้องปัดเรื่อย ๆ ตามต้องการ ทำให้ผู้ใช้คาดหมายถึง “ตัวเลือกที่อาจยังไม่ปรากฏ” ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าที่คุยอยู่ก็เป็นได้
จากการสำรวจ Online daters are less open-minded than their filters suggest โดย The Economist ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งผู้ใช้งานเป็น “Gen Y หรือ Z” ก็จะยิ่งใช้ฟิลเตอร์ในการคัดกรองผู้ที่ถูกใจตนมากยิ่งขึ้นกว่า Baby Boomers หรือ Gen X
ผู้ใช้ที่ได้รับการกรองออกน้อยที่สุด คือผู้ชายเชื้อชาติผสมหรือลูกครึ่งวัย 35-39 ปีที่มีส่วนสูงราว ๆ 175 - 179 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิงจะเป็นเชื้อชาติผสมหรือลูกครึ่งที่อายุ 25-29 ปีที่ส่วนสูงราว ๆ 180-185 เซนติเมตร
ที่มา: Online daters are less open-minded than their filters suggest
และส่วนมากที่ผู้ใช้คัดกรองออกอย่างมีนัยยะสำคัญ คือผู้หญิงที่เลยวัย 35 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในวัย 55-59 ปี ที่จะมีการคัดกรองออกเกือบ ๆ 90% เลยทีเดียว
อาจจะสรุปได้ว่า แอปหาคู่ทำให้ “สเปค” ของคนนั้นสูงขึ้น เลือกมากขึ้น แต่ก็ทำให้อัตราความโสดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่สามารถกล่าวโทษผู้ใช้ได้อย่างเต็มปาก
เพราะการเลือกคู่ครองมในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันแบบรวดเร็วนี้ ตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาจากการเชื่อมร้อยกันด้วยโลกออนไลน์มากขึ้น ก็จะทำให้การตัดสินใจที่จะตกลงปลงใจเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นเช่นกัน
อยู่กินแบบไม่แต่งงาน
จากงานศึกษา Trends in singlehood in young adulthood in Europe ได้เสนอว่า วัยรุ่นทั่วยุโรป เลือกที่จะ “อยู่กินแบบไม่แต่งงาน (Cohort)” แทนที่จะจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งตามหลักการทางกฏหมายแล้ว ไม่นับว่าเป็นคู่ชีวิต และจะจัดอยู่ในหมวดของคนโสด 2 คนแทน
การอยู่กินแบบไม่แต่งงานนี้ มีข้อดีคือสามารถที่จะแยกย้ายกันได้โดยง่าย หากว่าเกิดความไม่เข้ากันเมื่อเวลาผ่านไป หรือไปเจอผู้ที่เข้ากับตนได้มากกว่า หรือ “หมดแพชชั่น” กันแล้ว เป็นต้น
เมื่อเป็นแบบนี้ หมายความว่า การตีความคำว่าคู่ครองได้เปลี่ยนไป จากแต่เดิมที่มีการให้เวลาศึกษาดูใจเพื่อเป็นบุคคลเดียวกันแบบถูกต้องตามกฏหมายผ่านทะเบียนสมรส กลายเป็นว่าการอยู่แบบ Cohort คือการศึกษาดูใจกันเรื่อย ๆ อาจจะตลอดชีวิตเลยก็ได้
บางที การมีแอปหาคู่เข้ามา ก็ผลักดันให้เกิด Cohort ได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการใช้แอปเพื่อ “นัดพบ” แบบครั้งคราว ก็อาจใช้เพื่อหาผู้ร่วมทดลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เมื่อปัดขวาเจอคนใหม่ ก็แยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตนเอง
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- บทความ The filtered encounter: Online dating and the problem of filtering through excessive information
- บทความ Trends in singlehood in young adulthood in Europe
- https://www.economist.com/graphic-detail/2023/03/22/online-daters-are-less-open-minded-than-their-filters-suggest
- https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/167250/
ที่มาภาพ: Canva
ข่าวแนะนำ