เปิดใจคู่รัก ‘LGBTQ’ สู่ความหวังมีลูก สร้างครอบครัวอบอุ่นในไทย
ย้อนไปเมื่อปี 2565 กลางขบวนงาน Bangkok Pride ครั้งแรก อันและบิ้ว สวมชุดเจ้าสาว เดินจูงมือบนผืนธงสีรุ้ง ร่วมพิธีแต่งงาน สร้างความปิติยินดีและตื้นตันใจให้กับผู้คนรอบข้างที่กลายเป็นสักขีพยาน
---สร้างครอบครัว-ฝันมีลูก ยังเป็นอุปสรรคของ LGBTQ ไทย---
จากวันนั้น ถึงวันนี้ แม้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยังไม่เป็นกฎหมาย แต่ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 3 ปีแล้ว วาดฝันที่จะมีลูก สร้างครอบครัวเล็ก ๆ
แต่ฝันนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคด้วยข้อจำกัด และสังคมที่ยังไม่เปิดกว้าง เรื่องการมีบุตรของคู่รัก LGBTQ ในไทย
“ถ้าเราเป็นคู่รักต่างเพศ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในเรื่องของการมีลูก หรือ การเข้าถึงสิทธิการมีลูก การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มันมีช่องทาง มันง่าย มันราบรื่น มันทำได้” อันธิฌา แสงชัย หรือ อัน อาจารย์ นักบำบัด กล่าว
อัน กล่าวด้วยว่า มีคนแนะนำว่า ถ้าเป็น LGBTQ ก็ควรที่รับบุตรบุญธรรมได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว หากคู่รัก LGBTQ ตัดสินใจจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม จะต้องใช้เทคนิคทางกฎหมายเยอะมาก
“กฎหมาย ระบุว่า การรับบุตรบุญธรรมจะต้องมีบิดา มารดา แต่ทีนี้เราเป็นมารดาทั้งคู่ มันต้องมีมารดาแค่คนเดียว มันจะไปมี ‘มารดา มารดา’ ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่รับรู้ว่า เป็นมารดา 2 คน หรือ ถ้าพี่อีกคนหนึ่งจะเป็นมารดา แล้วพี่เป็นบิดา ก็ไม่ได้ เพราะพี่เป็นผู้หญิง พี่รับรู้เพศของตัวเอง” อัน กล่าว
---รัฐพยายามส่งเสริมคนมีลูก แต่ไม่ยอมรับให้คู่รัก LGBTQ มีลูกได้—
ในช่วงที่ไทยต้องเผชิญอัตราการเกิดต่ำ และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลพยายามทำให้ผู้มีบุตรยากเข้าถึงบริการและสามารถมีบุตรได้มากขึ้น แต่ด้วยสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ ยังจำกัดให้ใช้เพียงแค่คู่รักชายหญิงเท่านั้น ทำให้คู่รัก LGBTQ ไม่ได้เข้าถึงสิทธิดังกล่าว
อันและบิ้ว เป็นอีกหนึ่งคู่ ท่ามกลางคู่รัก LGBTQ อีกมาก ที่ฝันจะมีลูกร่วมกัน และพวกเธอก็พยายามหาวิธีต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ถึงฝั่งฝัน แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้เส้นทางฝันของเธอยังต้องเดินอีกยาวไกล
“เราก็ได้มีการไปคุยกับทางคลินิคแห่งหนึ่ง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อว่า ทุกเพศสามารถมีลูกได้ โดยที่คลิกนิกนั้นเป็น คลินิกเอกชน ราคาที่ใช้นั้นก็ค่อนข้างเยอะ เราเองอยู่ในช่วงที่สร้างเนื้อสร้างตัว เราก็เลยรู้สึกว่า อะไรที่เรารอได้ เราอยากรอให้กฎหมายผ่านก่อน หรืออะไรผ่านก่อน ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ต้องใช้เงินมากเท่านี้” วรวรรณ แรมวัลย์ หรือ บิ้ว พยาบาลวิชาชีพ และผู้ดูแลเพจ Jansu Healing กล่าว
“ตรงนี้เราคิดว่า มันต้องใช้เวลาเหมือนกัน สำหรับเรา 2 คน ที่ทำงานเรื่องนี้ กับทั้งตัวเอง และสังคม ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อจำกัดมาก ๆ คือ สรีระร่างกาย การมีบุตร มีช่วงเวลาที่จำกัด วัยเจริญพันธุ์ อันนี้เป็นข้อท้าทายมาก ๆ ซึ่งคู่รักเพศเดียวกันจะต้องคิด” อัน กล่าว
---ครอบครัวไม่ได้มีแค่ชาย-หญิง แต่หลากหลายเพศ—
อีกด้านหนึ่งของชีวิต อันได้ทำเพจพ่อแม่หลากหลายเพศ และกำลังจะเป็นชื่อเพจ บุพการีหลากหลายเพศ เพื่อให้ล้อไปกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีคู่รัก LGBTQ หลายคู่ในไทย ต่างเข้ามาเล่าเรื่องราว และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว LGBTQ ในไทยกับเธอ
อัน กล่าวว่า คนเหล่านี้ต่างเห็นเพจเป็นเพื่อน เพราะว่า พวกเขาไม่รู้จะไปคุยที่ไหน ส่วนใหญ่จะมาระบายเรื่องอยากมีลูก หรือ บ่นว่าการมีลูกในไทยของคู่รัก LGBTQ ทำไมถึงยาก
“บางคนต้องไปต่างประเทศ เพื่อที่จะไปใช้บริการเรื่องนี้ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เขาก็จะมาเล่าให้ฟัง เขารู้สึกว่า เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เขาพูดเรื่องนี้ ในที่สาธารณะลำบาก”
“เราเผชิญกับสังคมผู้สูงวัย เด็กเกิดน้อยลงทุกวัน ถ้ารัฐบาลยังไม่สนับสนุนให้คนมีบุตรแบบจริงใจ แบบที่ยอมรับได้ว่าครอบครัวมันหลากหลายเพียงพอ คุณก็ตัดโอกาสให้มีประชากรที่มีคุณภาพ ครอบครัวที่มีคุณภาพ ที่เขามีความพร้อมอีกเยอะแยะเลย”
---สังคมบางส่วนไม่เชื่อมั่น LGBTQ เลี้ยงลูกได้---
บางส่วนของสังคมยังคงมองว่า การครองรักของคู่ LGBTQ จะไม่ยั่งยืน และเด็กที่เกิดมา หรือ เด็กที่ถูกโตมาในครอบครัวกลุ่มนี้ จะกลายเป็นเด็กมีปัญหาในภายหลัง กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้สังคม LGBTQ ไม่สามารถมีลูกร่วมกันได้
“มันอยู่ที่ความรัก มันอยู่ที่การแสดงออก การโอบอุ้ม ความหมายของครอบครัว มันไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณเป็นเพศอะไร” อัน กล่าว
“พี่รู้สึกว่า สังคมกำลังมองหาขาวกับดำ การสร้างมนุษย์ 1 คน การใช้ชีวิตด้วยกัน มันไม่ได้มีสีขาว กับ สำดำอยู่แล้ว มันไม่สามารถไปชี้บอกใครได้ว่า ลูกคุณดี ลูกคุณไม่ดี เพราะใช้บรรทัดฐานบางอย่างของสังคมมาตัดสิน” บิ้ว กล่าว
“พี่อยู่ในโรงพยาบาล พี่เห็นเยอะมากที่เด็กมีปัญหา แล้วต้องเข้ารับการรักษาบำบัดทางจิต ซึ่งพี่ไม่ได้เห็นว่า มันจะขึ้นกับเพศของพ่อแม่ หรือ บุพการี”
บิ้ว กล่าวเสริมด้วยว่า การกล่าวแบบนี้เป็นการตีตรา เหมือนกับการที่บอกว่า LGBTQ จะอยู่กันได้ไม่ยาว เหมือนกันเลย พี่รู้สึกว่า การที่เด็กจะอยู่ในพื้นที่แบบไหน เด็กจะมีพฤติกรรมแบบนั้น เพราะฉะนั้น การมีความสัมพันธ์ที่ Healthy ไม่ Healthy ส่งผลต่อชีวิตของเด็กเช่นกัน ไม่ได้ขึ้นกับคำว่า พ่อแม่”
---สมรสเท่าเทียมกำลังจะผ่าน แต่ปัดตก “บุพการีลำดับแรก”---
แม้ “ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” จะผ่านแล้วในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร และกำลังรอพิจารณาในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 18 มิถุนายนนี้
ร่างดังกล่าว ถึงจะอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกัน สมรสได้โดยมีกฎหมายรองรับ แต่ยังจำกัดสิทธิในการสร้างครอบครัวบางประการ โดยปัดตกคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ออก ทำให้คู่รัก LGBTQ ในไทย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม หรือ เข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ดั่งเฉกเช่นคู่รักชายหญิงทั่วไป
อัน กล่าวว่า กฎหมายยังไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เราพยายามพูดคำว่า “บุพการี” เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย เปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความเป็นกลางทางเพศ เขาไม่ได้ต้องการจะถืออัตลักษณ์หญิง หรือ ชาย ดังนั้น เขาจีงไม่ได้ต้องการจะเป็นแค่บิดา หรือ มารดา เขาต้องการเป็นบุพการี
“คงต้องคุยกันอีกนาน เพราะว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่คนออกกฎหมายเขาระมัดระวัง เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องสถาบันครอบครัว แบบอยู่บนจุดที่สูงที่สุดหละ ไม่ใช่แค่คนสองคน” เธอ กล่าว
---ถึงจะยาก แต่ยังไม่หมดหวัง—
ความหวังที่ “สมรสเท่าเทียม” กำลังจะผ่าน เหลืออีกไม่กี่ก้าว
ถึงแม้ “การมีลูก” จะเป็นเรื่องยากสำหรับคู่รัก LGBTQ ในไทย แต่พวกเขาก็หวังว่า หากสมรสเท่าเทียมสามารถผ่านได้แล้ว การมีลูกระหว่างครอบครัวหลากหลายทางเพศ ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
“พี่อยากเห็น LGBTQ เท่ากับเพศอื่น ๆ ได้ใช้สิทธิเต็มของประชาชนคนไทย” บิ้ว กล่าวทิ้งทาย
เรื่อง-ภาพ: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข่าวแนะนำ