TNN “รักเราเป็นไปไม่ได้ในเมียนมา” เปิดใจคู่รัก LGBTQ เมียนมา ทำไมมาสมรสกันในเชียงใหม่ ไพร์ด

TNN

TNN Exclusive

“รักเราเป็นไปไม่ได้ในเมียนมา” เปิดใจคู่รัก LGBTQ เมียนมา ทำไมมาสมรสกันในเชียงใหม่ ไพร์ด

“รักเราเป็นไปไม่ได้ในเมียนมา” เปิดใจคู่รัก LGBTQ เมียนมา ทำไมมาสมรสกันในเชียงใหม่ ไพร์ด

“รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับ การแต่งงานของคน LGBTQ” ผู้มีความหลากหลายทางเพศจากเมียนมา จึงมาสมรสกันที่เชียงใหม่ของไทย แม้ว่า พรบ.สมรสเท่าเทียม จะยังไม่เป็นกฎหมายก็ตาม สำหรับพวกเธอแล้ว การได้แต่งงานกันถือเป็นการ “ปฏิวัติ” ต่อต้านรัฐบาลทหาร

---คู่รัก LGBTQ เมียนมา ลี้ภัยแต่งงานที่ไทย---


เสียงเชียร์โห่ก้อง จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อเนียน และแม คู่รักเควียร์จากเมียนมา วิวาห์กันต่อหน้าสักขีพยานหลายพันคนในเชียงใหม่


มันเป็นการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่พวกเขาทำไม่ได้ในเมียนมา ที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร และกำลังเผชิญสงครามกลางเมือง


“รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับการแต่งงานของคน LGBTQ พวกเขามีนโยบายแบ่งแยก

ผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย แต่ถ้าเราแต่งงานกันในกิจกรรมแบบนี้ เราได้รับการยอมรับจากขบวนการ” เนียน นักวิจัยจากเมียนมา ผู้นิยามตนเองว่า “เควียร์” กล่าว 


การสมรสของเนียนและแม เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยังรอการเห็นชอบในวุฒิสภา ก่อนนายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ


แต่เนียนและแม บอกกับ AFP ว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว พวกเขาจะสมรสกันจริง ๆ อีกครั้งในไทย เพราะยังไงก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคงทำแบบเปิดเผยไม่ได้ในเมียนมา


---LGBT เมียนมา ลี้ภัยแต่งงานที่ไทย---


การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถือว่าผิดกฎหมายในเมียนมา ที่ยังอยู่ใต้กฎหมายเดิม สมัยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ แม้กฎหมายจะบังคับใช้อย่างหละหลวม แต่ชุมชน LGBTQ ในเมียนมา ก็เผชิญการแบ่งแยกและกดขี่ทางสังคม รวมถึงถูกจองจำด้วย


การเป็น LGBTQ ในเมียนมา ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ระบุว่า ห้ามไม่ให้มีการร่วมเพศทางทวารหนัก หรือ สังวาสที่ผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรักต่างเพศ หรือ เพศเดียวกัน หากฝ่าฝืนต้องโทษปรับและจำคุกถึง 20 ปี 


และนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อปี 2021 สหประชาชาติ เผยว่า มีชาวเมียนมาที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ราว 2.7 ล้านคน ขณะที่ กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน 


การแต่งงานในครั้งนี้ของเนียนและแม พวกเขา บอกว่า การกระทำครั้งนี้ เปรียบเสมือนการปฏิวัติ 


“มันเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ในเมียนมา เราได้โอกาสมาแต่งงานในไทย ทำให้เราแข็งแกร่งด้วยกัน มันเป็นหลักฐานแห่งรักและการสมรส” แม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากเมียนมา ผู้นิยามตนว่า “เควียร์” กล่าว 


---เชียงใหม่ ที่พักพิงชาวเมียนมา---


เชียงใหม่ ถือเป็นอีกถิ่นพำนักของชาวเมียนมาที่หนีการเมืองที่ไม่มั่นคง ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2021 


เชียงใหม่ยังเป็นสถานที่ที่เนียนได้พบรักกับแม ในสภาพแวดล้อมที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับ 


“ฉันคิดว่าสังคมยอมรับเรา ไทยเป็นประเทศที่ดี ชุมชนเชียงใหม่น่ารักมาก เราอยากมาอยู่เชียงใหม่” เนียน กล่าว 


เมื่อวันอาทิตย์ (26 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา ผู้คนราว 2,000-3,000 คน เดินทางมาเข้าร่วมขบวนเชียงใหม่ ไพรด์ สนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 


“การรณรงค์ในเรื่องสมรสเท่าเทียมของเรา มันอิมแพคจริง ๆ แล้วมันส่งผลไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มันส่งผลสู่ประเทศพี่น้องของเรา ในอาเซียน ที่สำคัญก็คือ ถ้าเกิดประเทศไทยผ่าน มันอาจจะเป็นโมเดลให้กับประเทศเพื่อนบ้านของเรา”  ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้จัดเชียงใหม่ ไพรด์


แปล-เรียบเรียง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล และพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

"Our revolution": Myanmar LGBTQ couple tie knot at Thai Pride - AFP 

https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Myanmar

ข่าวแนะนำ