ขยะอาหารล้นโลกไม่หยุด แต่ผู้คนเกือบพันล้านกำลังอดตาย ซ้ำเติมวิกฤต ‘โลกเดือด’
“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินที่ขว้าง เป็นของมีค่า…” ตอนเด็ก ๆ เราอาจเคยถูกสอนให้ท่องประโยคดังกล่าวทุกวัน ก่อนรับประทานอาหารกลางวันของโรงเรียน เพื่อสอนให้เรารู้จักคุณค่าของอาหารที่เราได้ทานเข้าไป
แต่ถึงแม้พวกเราจะถูกสอนให้จดจำว่า “ควรกินอาหารให้หมด อย่าให้เหลือ” บ่อยครั้งแค่ไหน แต่ “ขยะอาหาร” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จนขยะเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น
---ผู้คนเกือบพันล้านกำลังอดตาย แต่ขยะอาหารล้นโลก---
รายงานดัชนีขยะอาหาร ประจำปี 2024 (Food Waste Index Report 2024) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP เปิดเผยให้เห็นว่า ในปี 2022 โลกมีขยะอาหารกว่า 1.05 พันล้านตัน
โดยขยะอาหารทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน คิดเป็นทั้งหมด 631 ล้านตัน หรือมากกว่า 60% ของขยะอาหารทั้งหมด
ขณะที่ ขยะอาหารที่มาจากภาคบริการ มีจำนวนทั้งหมด 290 ล้านตัน คิดเป็น 28% และธุรกิจการค้าปลีก 131 ล้านตัน คิดเป็น 12%
จากตัวเลขดังกล่าว นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกคนบนโลกจะสร้างขยะอาหารราว 79 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบเท่าอาหาร 1.3 มื้อต่อวัน
แม้ตัวเลขขยะอาหารทั่วโลกจะมีจำนวนมากมายมหาศาล แต่ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่พื้นที่บางส่วนของโลกกำลังเผชิญกับความหิวโหยอย่างหนัก ประชาชนกว่า 780 ล้านคนทั่วโลก ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร และน้ำได้ ในขณะที่ขยะอาหารเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงเรื่อย ๆ
“ขยะอาหารนับได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก ตอนนี้มีผู้คนหลายร้อยล้านคนกำลังหิวโหย ในขณะที่มีอาหารถูกทิ้งไปทั่วโลก” อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน กรรมการบริหารของ UNEP กล่าว
---ไม่ได้กระทบแค่เศรษฐกิจ แต่โลกกำลังตายไปด้วย---
แอนเดอร์เซน กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเกิดมลภาวะรุนแรงขึ้นอีกด้วย
จากรายงานของ UNEP พบว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลก และระดับปริมาณขยะอาหารมีความสัมพันธ์กัน โดยชี้ให้เห็นว่า ขยะอาหารสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนและโลก
ผู้เชี่ยวชาญของ UNEP เชื่อว่า ขยะอาหารก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกราว 8-10% ซึ่งถ้าหากเปรียบเป็นประเทศ ขยะอาหารจะถูกจัดเป็นอันดับที่ 3 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดของโลก ตามหลังจีน และสหรัฐฯ ฉะนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหารเหลือทิ้งถือเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ ประเทศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ดูเหมือนจะมีจำนวนปริมาณอาหารขยะต่อหัวในครัวเรือนมากกว่า อาจเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ มีการบริโภคอาหารสดจำนวนมาก เช่น ผัก ผลไม้ ซึ่งจะมีบางส่วนที่กินไม่ได้ ทำให้ต้องทิ้งไป กลายเป็น ขยะอาหาร รวมถึงยังขาดวิธีการในการเก็บรักษาอาหารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร
อุณหภูมิที่สูงขึ้น, คลื่นความร้อน และภัยแล้ง สร้างความท้าทายให้กับกระบวนการจัดเก็บ แปรรูป การขนส่ง และการค้าขายมากขึ้น มักนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนขยะอาหารอย่างมีนัยสำคัญ
---ไทยเผชิญขยะอาหารล้นเมือง---
ไทย เป็นหนึ่งประเทศที่พบว่า อาหารส่วนเกินจำนวนมากเป็นขยะอาหาร ส่วนใหญ่ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาโลกร้อน ซึ่งการจัดการขยะอาหารให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งเป็นหนทางสำคัญในการแก้ปัญหานี้
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2022 ไทยมีขยะอาหารมากถึง 9.68 ล้านตัน โดยสัดส่วนขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนสูงถึง 38% นั่นหมายความว่า คนไทย 1 คน สามารถสร้างขยะอาหารราว 254 กิโลกรัมต่อปี และเมื่อดูสัดส่วนประเภทขยะทั้งหมดในไทย จะพบว่า กว่า 60% ของขยะมาจากขยะอาหาร
---ทั่วโลกเร่งแก้ปัญหาขยะล้นเมือง---
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็มีการออกกฎหมาย เพื่อหวังลดจำนวนขยะอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสออกกฎหมายในปี 2016 ต่อต้านขยะอาหาร สั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารทำลายอาหารที่ขายไม่ออก และให้พวกเขานำไปบริจาคแทน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงเกือบ 150,000 บาท
สหรัฐฯ แม้จะไม่มีกฎหมายระดับชาติออกมาบังคับใช้ แต่ในหลายรัฐได้นำกฎหมายเกี่ยวกับการกำจัดขยะอาหารมาใช้ โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจ มากกว่าการใช้บทลงโทษ เช่น เสนอการลดหย่อนภาษี เมื่อทำการบริจาคอาหาร เป็นต้น
ด้านญี่ปุ่นรับมือกับขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2001 ด้วยการออกกฎหมาย พ.ร.บ.รีไซเคิลขยะอาหาร (Food Waste Recycling Act) เพื่อส่งเสริมการลดขยะอาหาร นำเศษอาหารไปรีไซเคิลให้เป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ในปี 2019 ยังได้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. การสูญเสียอาหาร (Food Loss Act) เป็นส่วนหนึ่งของแผนรัฐบาลที่ต้องการลดขยะอาหารในครัวเรือน ตอบสนองต่อเป้าหมายของ UN ที่ต้องการลดขยะอาหาร ที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกลดลง 50% ภายในปี 2030
ขณะที่ ไทยเองก็ตอบสนองต่อเป้าหมายของทาง UN เช่นกัน ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้รับมอบหมายในการจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)
ซึ่งภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะมีการอนุมัติร่างที่สำคัญ 2 ร่าง เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหารล้นเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะที่ 1 ได้แก่
1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะอาหาร ลดปริมาณการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหาร เป็นกรอบและทิศทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศทั้งระบบ
2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ลดจำนวนคนขาดแคลนอาหาร และลดจำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการทั้งขาดแคลน
นับจากนี้ไปอีก 6 ปี โลกก็จะเข้าสู่ปี 2030 แน่นอนว่า มีเป้าหมายเรื่องโลกร้อนหลายอย่างที่องค์กรระหว่างประเทศต่างตั้งไว้ เพื่อให้ทั่วโลกได้ปฏิบัติตาม และขยะอาหารก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว เราก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โลกจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ หรือ เราอาจจะสูญเสียทุกอย่างไป ก่อนจะถึงปี 2030
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
ข่าวแนะนำ