TNN ขาลงของ American Icon! สรรพปัญหา “โบอิ้ง” ที่อาจสั่นคลอนถึง “ความเชื่อมั่น” ในระยะยาว

TNN

TNN Exclusive

ขาลงของ American Icon! สรรพปัญหา “โบอิ้ง” ที่อาจสั่นคลอนถึง “ความเชื่อมั่น” ในระยะยาว

ขาลงของ American Icon! สรรพปัญหา “โบอิ้ง” ที่อาจสั่นคลอนถึง “ความเชื่อมั่น” ในระยะยาว

ถึงคราว โบอิ้ง ที่ได้สมญาว่า American Icon ขาลง! จากปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้า อาจมาจากการออกแบบเครื่องบินที่ไม่สมดุลกับที่นั่ง และการใช้เหลี่ยมด้านความปลอดภัย

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


นับว่าสะเทือนวงการ “อากาศยาน” อย่างมาก เมื่อ “โบอิ้ง” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสร้างอากาศยาน กำลังประสบกับ “สรรพปัญหา” ที่ประดังประเดเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย 


ทั้งในเรื่องของประตูเครื่องบิน ดันหลุดออกมากลางอากาศ ระบบที่รวนอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่หนักที่สุด นั่นคือ การโหม่งพสุธาที่เกินขึ้นบ่อยครั้งในระยะ 3-4 ปีหลัง และทำให้เกิด “การสูญเสีย” เลยทีเดียว


แน่นอน สิ่งดังกล่าวกระทบต่อ “ความเชื่อถือ” ในแบรนด์โบอิ้ง ที่สั่งสมมาช้านาน กลับมีความ “ลดลง” อย่างมาก โดยทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว


เกิดอะไรขึ้นกับหนึ่งในบริษัทเจ้าตลาดอากาศยานแห่งนี้ 


ปัญหา “การแข่งขัน” เรื่อง “ขนาด”


ในโลกธุรกิจ การเกิดขึ้นของ “ตลาดผูกขาด” เป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักลงทุน แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก โดยเฉพาะ ตลาดผูกขาด “เจ้าเดียว (Monopoly)” เพราะจะทำให้ผู้ครองตลาดนั้น ๆ สามารถที่จะตัดสินใจ “โดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภค” ได้โดยง่าย และจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการนั้น แม้จะกระทำแบบ “ลดมาตรฐาน” ก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะขายอยู่เจ้าเดียว


แต่สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน นั่นคือ “ตลาดแข่งขันสองราย (Duopoly)” เพราะถึงแม้ว่า อย่างน้อยก็จะมีการแข่งขันกัน แต่ในการแข่งขันนั้น ๆ “ระดับความเข้มข้น” ก็ไม่ได้มากมายในระดับที่จะ “เกิดการพัฒนา” หรือยกระดับมาตรฐานของกันและกันได้อย่างชะงัดยิ่ง


แน่นอน อากาศยานกำลังตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ เพราะมีแต่การแข่งขันของ โบอิ้ง และ “แอร์บัส”


โดยความแตกต่างของทั้งสองผู้ครอบครองตลาดอากาศยานนั้น มีหลากหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือเรื่องของ “ดีไซน์” และ “ขนาดบรรทุก” เป็นสำคัญ


โดยแอร์บัส ดีไซน์จะออกแนวเพลน ๆ เน้นใช้งาน ไม่หวือหวา ส่วนโบอิ้งนั้น เน้นดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยว ทันสมัย ก้าวล้ำไปอีกขั้น 


และการ “เล่นฉีก” ของโบอิ้งนี้เอง ทำให้เกิดปัญหาตามมา นั่นคือ “ขนาดบรรทุก” เสียเปรียบ แอร์บัส อยู่หลายช่วงตัว เพราะดีไซน์ของโบอิ้ง มาพร้อมกับ “ความเพรียว” เพื่อทำให้เกิดการ “รีดน้ำหนัก” เพื่อเน้นการขับเคลื่อนอากาศยาน มากกว่าที่จะมาเน้น “ขนคน” แบบแอร์บัส


ดังนั้น การที่สายการบินใดใช้โบอิ้ง จะต้องแบกรับ “ค่าเสียโอกาส” ตรงนี้ไป


กระนั้น สิ่งที่โบอิ้งออกมา “แก้ลำ” นั่นคือ ความพยายามในการปรับปรุง “ของเดิม” ให้สามารถที่จะมีขนาดบรรทุกที่เพิ่มขึ้น


โดยรุ่นที่ทำการปรับปรุงและได้รับความนิยมมากที่สุด นั่นคือ “737 Max” โดยสังเกตง่าย ๆ ว่า หากเติม “Max” เข้าไปด้านหลัง ให้เข้าใจว่า คือการเพิ่มขนาดบรรทุกให้มากขึ้นจากโมเดลเดิม


แน่นอน การเพิ่มขนาดบรรทุก โดยไม่ได้ทำการ “ออกแบบโมเดลใหม่ทั้งหมด” นำมาสู่ปัญหาที่สำคัญ ที่อาจมองข้ามไปได้ง่าย นั่นคือ “ความไม่ Fit In” ของโมเดลและขนาดบรรทุก


อย่าลืมว่า ในการที่จะออกแบบโมเดลใดโมเดลหนึ่ง ย่อมต้องคิดเรื่อง “ความสัมพันธ์กับขนาดบรรทุก” ไว้เป็นที่ตั้ง การนี้ เมื่อโบอิ้งไม่ได้ทำอะไรใหม่ แต่คัดลอกโมเดลมาทั้งดุ้น และจับ “ที่นั่ง” ยัดใส่เข้าไป ทำให้ “ความสมดุล” ของตัวเครื่องบิน เสียหายลงอย่างมาก


และนี่เอง ที่มีการคาดการณ์ว่า นำไปสู่การโหม่งพสุธาอย่างบ่อยครั้ง ด้วยความไม่สมดุลดังกล่าว แต่ยังคง “ทู่ซี้” ที่จะเพิ่มขนาดบรรจุ เพื่อแข่งขันกับแอร์บัส ถึงขนาดที่ เดนิส มูลินเบิร์ก อดีตซีอีโอของโบอิ้ง ยังได้ออกมากล่าวขอโทษกับเรื่องการปรับแปลงรุ่น Max ต่อสภาคองเกรสว่า “เราได้สร้างปัญหาและได้ทำผิดมหันต์ เราจะเรียนรู้และพัฒนาขึ้น”


แต่สิ่งนี้ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขเดียว ที่อาจจะนำไปสู่ “วิกฤต” ของโบอิ้ง


โบอิ้ง “ใช้เหลี่ยม” เรื่องความปลอดภัย


เรื่องของ “ขนาดบรรทุก” เป็นประเด็นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ตรงนี้ จะไม่เป็นปัญหาใด ๆ เลย หากการขาดสมดุลของตัวเครื่องบินและที่นั่ง อยู่ภายใต้ “มาตรฐานความปลอดภัย” ที่เป็นมาตรฐานจริง ๆ ของโบอิ้ง


หรือก็คือ โบอิ้งนั้น ได้กระทำการ “ใช้เหลี่ยม” บางอย่าง เพื่อให้ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับสากล ทั้งที่จริง ๆ มีปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม และไม่ได้รับการแก้ไข 


แม้กระทั่งในการตรวจสอบเหตุประตูหลุดกลางอากาศ ยังได้มีข่าวออกมาว่า โบอิ้ง “เล่นซิกแซ็ก” กับหลักฐานเลยทีเดียว


ย้อนกลับไปที่ตลาดแข่งขันสองราย แน่นอนว่า หากมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด นั่นหมายความว่า จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ “ขัดขวางห่วงโซ่การผลิต” ในวงการอากาศยาน ไปโดยปริยาย และจะกระทบกับระบบอย่างมาก 


และการเป็นตลาดแข่งขันสองราย ย่อมทำให้โบอิ้งสามารถสร้าง “แต้มต่อ” ในการที่จะสร้าง “ดีล” ให้ได้เปรียบเพื่อให้หน่วยงานในการเข้ามาตรวจสอบ สามารถที่จะ “ปล่อยผ่าน” ไปได้ 


แน่นอน ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตกมาอยู่ที่ “สายการบินและลูกค้า” ที่ต้องแบกรับภาระเรื่องของตลาดแข่งขันสองราย ที่มาพร้อมการใช้เหลี่ยมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากโชคร้าย ก็ถึงกับสิ้นชีวิต


เมื่อมาถึงตรงนี้ การที่จะเปลี่ยนแปลงตลาดแข่งขันสองรายในวงการอากาศยาน เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ประหนึ่ง “นำไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” แต่อย่างน้อย ๆ การที่ปัญหาของโบอิ้งได้รับการตีแผ่ ลูกค้าที่จะใช้บริการก็จะ “ระวังตัว” มากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย


แหล่งอ้างอิง


https://hbswk.hbs.edu/item/why-boeings-problems-with-737-max-began-more-than-25-years-ago

https://www.businessinsider.com/why-boeing-737-max-planes-have-issues-2024-1

https://www.politico.eu/article/boeing-crisis-everybody-freaking-out-faa-easa-alaska-door-plug-737-max9/ 

https://www.cnbc.com/2024/04/05/boeing-ceo-calhoun-took-home-5-million-last-year-ahead-of-737-max-crisis.html

https://www.cnbc.com/2024/04/06/why-the-boeing-737-max-has-been-so-problematic.html 

https://www.euronews.com/business/2024/02/07/boeings-tragedy-the-fall-of-an-american-icon


ข่าวแนะนำ