TNN เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย

TNN

TNN Exclusive

เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย

เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดประเด็นร้อนแรงในเกาหลีใต้ เมื่อมีข่าวว่า ‘ฮัน โซฮี’ นักแสดงสาวชื่อดัง เบอร์ต้น ๆ ของเกาหลีใต้ กำลังคบกับ ‘รยู จุนยอล’ นักแสดงชายผู้มากความสามารถจากแดนโสมขาว ผู้เพิ่งประกาศเลิกกับ ‘อี ฮเยริ’ อดีตคนรักของเขาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข่าวลือเรื่องคบซ้อน ที่แม้สำนักข่าวบางแห่งจะออกมายืนยันถึงไทม์ไลน์การคบกันของทั้งคู่ว่า ไม่ได้มีการคบซ้อนแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้ทั้งคู่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมเกาหลีใต้

หนึ่งในคำวิจารณ์จากชาวเน็ตเกาหลีใต้และไทย ถกเถียงกันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย นั่นคือ รูปร่างหน้าตาของ ‘รยู จุนยอล’ ที่ถูกมองว่า ไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานความงาม” ของสังคม จนมองข้ามความสามารถ และตัวตนที่แท้จริงของเขาไป 


แม้ว่าโลกจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “มาตรฐานความงาม” มากเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน หลายประเทศ หลายวัฒนธรรม ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่ความงามสามารถกำหนดชะตาของคุณได้ ว่าคุณจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือ แย่ลง 


—มาตรฐานความงามที่สูงเสียดฟ้า—


ในเกาหลีใต้ มาตรฐานความงามที่สูงเสียดฟ้าไม่ได้กำหนดอยู่แค่เฉพาะในหมู่คนดัง หรือ คนร่ำรวยเท่านั้น แต่กับคนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าจะเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ ก็ต้องพยายามทำตนเองให้อยู่ภายใต้มาตรฐานความงามที่สังคมกำหนดไว้ 


Korean Times อ้างอิงผลสำรวจของ Gallup Korea ปี 2020 ระบุว่า 9 ใน 10 ของคนเกาหลีบอกว่า “รูปลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต” ขณะที่ ผลสำรวจของ Career เผยว่า ผู้สมัครงานในเกาหลีใต้ 4 ใน 10 คน เคยเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากรูปลักษณ์ภายนอกในระหว่างที่กำลังหางาน 


นอกจากนี้ ปี 2023 มากกว่า 1 ใน 3 ของพนักงานหญิง ระบุว่า พวกเธอเคยถูกเพื่อนร่วมงาน หรือ หัวหน้า วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องรูปร่างหน้าตาของพวกเธอในทางที่ไม่เหมาะสม และมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องระบุน้ำหนัก ส่วนสูง ไซส์ของหุ่นตัวเองในใบสมัครงาน แม้ว่าเธอจะสมัครงานตำแหน่งพนักงานออฟฟิศธรรมดา ๆ เท่านั้น


—ความงามกับเศรษฐกิจ—


แม้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะชอบพูดประโยคที่ว่า “Don’t judge a book by its cover” หรือ อย่าตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขา แต่การเลือกปฏิบัติตามมาตรฐานความงามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย และมันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อพูดถึงสังคมเกาหลีใต้ 


ในประเทศที่การแข่งขันสูง ความงามจึงมีบทบาทสำคัญ ผู้คนเกาหลีใต้มักถูกย้ำเตือนบ่อยครั้งว่า “ความประทับใจแรกคือสิ่งสำคัญ” ซึ่งความประทับใจนั้น รวมไปถึงรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า และทรงผม ที่ความงามเหล่านี้มีความสำคัญมากพอกับอายุ เพศ ตลอดจนความมั่งคั่ง และยังสามารถกำหนดชีวิต หน้าที่การงาน และความสำเร็จของคุณได้ 


การให้ความสนใจไปที่เรื่องความงาม เพื่อเป็นต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอันในเกาหลีใต้นี้เรียกว่า ‘Lookism’ (ลุกคิซึม)


สำหรับบางคนมองว่า ‘Lookism’ และการโฟกัสไปที่ความงามนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นวิธีในการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยมีต้นกำเนิดมาจากแนวคิดของลัทธิขงจื้อ 


นอกจากนี้ แนวคิดดั้งเดิมของเกาหลีอย่าง ‘กวานซัง’ มีความเชื่อว่า คุณสามารถทำนายโชคชะตาของใครสักคนได้ โดยดูได้เพียงจากใบหน้า รูปลักษณ์ภายนอกคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง และสามารถเผยให้เห็นถึงชะตาของเรา 


ทั้งนี้ มีเรื่องเล่ามากมายว่า บริษัทในเกาหลีใต้บางแห่งถึงขั้นเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องดวงชะตาเข้ามาในระหว่างสัมภาษณ์งาน เพื่อพิจารณารูปหน้าของผู้สัมภาษณ์อย่างเดียวว่า บุคคลนั้นจะสามารถนำความสำเร็จมาสู่บริษัทได้หรือไม่ 

 

—ศัลยกรรมยกระดับชีวิต—


นักวิจัย เผยว่า ความน่าดึงดูดทางกายภาพของแต่ละบุคคลมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพของประสบการณ์ทางสังคมของพวกเขา “ยิ่งคุณสวยมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความได้เปรียบในชีวิตมากขึ้น” แต่จะเกิดอะไรขึ้น “ถ้าหากคุณไม่สวย?” 


การที่คุณสวยน้อยกว่า หรือ มีหน้าตาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความงาม จะทำให้คุณมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น ผลการศึกษาหลายที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้คนเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งนี้สามารถส่งผลลบต่อสุขภาพทางจิตใจสูงมาก และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้


ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้บางส่วนมองว่า แนวคิด ‘Lookism’ เป็นปัญหาที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และอิทธิพลของอุตสาหกรรมบันเทิง ฉะนั้น การทำศัลยกรรมจึงกลายเป็นจุดแข็งของเกาหลีใต้ที่จะช่วยทำให้คุณดูดีขึ้นได้ สร้างความประทับใจแรกได้ดี และแสดงให้เห็นว่า คุณใส่ใจต่อสายตาของสาธารณชนมากแค่ไหน 


ด้วยเหตุผลนี้ ความงามจึงกลายเป็นตัวแทนของคุณสมบัติ หรือ ประสบการณ์การทำงาน แทนที่ผู้คนจะใช้จ่ายเงินไปกับการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน แต่กลายเป็นว่า พวกเขาเลือกที่จะใช้เงินไปกับเครื่องสำอาง หรือ ศัลยกรรมเพื่อช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับสถานะทางสังคม โดยพวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวังมากกว่า


—ความงามแบบเกาหลีขยายสู่สังคมไทย—


จากดุษฎีนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2018 “สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี” เขียนโดย วิสาขา เทียมลม ระบุไว้ว่า การแพร่กระจายของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมความงามแบบเกาหลีเข้าสู่สังคมไทย เกิดจากการเผยแพร่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ภายหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ด้วยการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรม


อ่าน “สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี” เวอร์ชันเต็ม: https://cis.tu.ac.th/uploads/ci/academic-work/phd-thesis/61visakha.pdf


ผลพวงจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรม ทำให้เกิดกระแส ‘เกาหลีฟีเวอร์’ ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยการสร้างภาพลักษณ์ความงามเกาหลีตามแบบฉบับพระเอก นางเอกในซีรีส์ หรือนักร้องวง K-Pop ก็ค่อย ๆ ครอบงำเข้ามาในสังคมไทยแบบไม่รู้ตัว 


“ผู้หญิงไทยชื่นชอบความงามแบบ เกาหลีของดาราในละครซีรีส์หรือนักร้องเกาหลีและให้เป็นต้นแบบความงาม เป็นความงามที่มาจาก การทำศัลยกรรม และกลายเป็นความงามในอุดมคติที่พึงปรารถนา เพราะมีคุณลักษณะเฉพาะอย่าง ได้แก่ รูปหน้า V-Line ตาสองชั้น จมูกเรียวเล็ก เป็นต้น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงไทยเดินทาง ไปทำศัลยกรรมความงามที่เกาหลีใต้” ข้อความส่วนหนึ่งจากดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าว 


แม้หญิงไทยจะมีความชื่นชอบในเรื่องรูปลักษณ์ตามแบบฉบับเกาหลี แต่ถึงกระนั้น อุตสาหกรรมวัฒนธรรมก็ไม่ได้ครอบงำหญิงไทยหมด จนทำให้รู้สึกอยากจะทำศัลยกรรมไปตามมาตรฐานของงามของเกาหลีแบบเป๊ะ ๆ  แต่หญิงไทยมักจะเลือกสร้างภาพลักษณ์ในรูปแบบที่ตนเองต้องการ และพึงพอใจมากกว่า โดยผสมผสานกับการทำศัลยกรรมความงามเกาหลีได้ด้วย และทำให้ตนเองสามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบความงามนี้ เพื่อยกระดับชีวิตตามที่ตนเองต้องการในสังคมปัจจุบัน 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: AFP


#GlobalLink #รยูจุนยอล #เกาหลีใต้ #BeautyStandard #บิวตี้สแตนดาร์ด #มาตรฐานความงาม #ความงาม 

#TNNONLINE #TNNThailand #TNNช่อง16


ข้อมูลอ้างอิง:

Sublime object of ideology: Korean beauty standards and metaverse - Korea Times

Obsessed with looks - Korea Times

ดุษฎีนิพนธ์: สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี - TU

ข่าวแนะนำ