TNN ส่องภารกิจสำรวจ "ดวงจันทร์" หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว

TNN

TNN Exclusive

ส่องภารกิจสำรวจ "ดวงจันทร์" หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว

ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว

ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ กำลังเร่งเดินหน้าภารกิจสำรวจ “ดวงจันทร์” และกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในระยะยาว เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ที่มีโครงการ “อาร์ทีมิส” (Artemis) เป้าหมายพามนุษย์เดินทางขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง ขณะที่ กำลังเร่งสรุปรูปแบบโครงการติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บนดวงจันทร์ในระยะแรก เพื่อปูทางสู่การติดตั้ง และเปิดใช้งาน เพื่อให้สามารถนำลังงานมาใช้สนับสนุนโครงการอาร์ทีมิสในอนาคต ด้านนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าดวงจันทร์อาจเกิดแผ่นดินไหวได้ หลังงานวิจัยพบว่าดวงจันทร์กำลังหดตัว ทำให้ผิวด้านนอกเกิดรอยแยกขึ้น

ในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ การแข่งขันด้านอวกาศมีความคืบหน้าและเห็นเป็นรูปธรรมมมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสำรวจ “ดวงจันทร์” ของชาติมหาอำนาจต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ต่อจาก สหรัฐฯ จีน สหภาพโซเวียต (อดีต) และอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ ขณะที่ สหรัฐฯ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา มีโครงการ “อาร์ทีมิส” (Artemis) ที่มีเป้าหมายพามนุษย์เดินทางขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากประสบความสำเร็จภารกิจ อาร์ทีมิส 1 ส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว ได้เลื่อนภารกิจ “อาร์ทีมิส 2” ซึ่ง มีขั้นตอนเหมือนภารกิจ “อาร์ทีมิส 1” แต่จะมีนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์แล้วเดินทางกลับมายังโลก ได้เลื่อนไปในเดือนกันยายน 2568 จากกำหนดเดิมที่วางไว้ เดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนภารกิจ “อาร์ทีมิส 3” ภารกิจลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2569 และตามด้วยภารกิจ “อาร์ทีมิส 4” ในปี 2571


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ทั้งนี้ นาซา กำลังสรุปผลรูปแบบโครงการ “เดอะ ฟิสชัน เซอร์เฟส พาวเวอร์” (The Fission Surface Power) ที่เป็นโครงการที่จะติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนดวงจันทร์ในระยะแรก มีเป้าหมายสร้างแหล่งพลังงาน จากพลังงานสะอาดที่ปลอดภัยบนดวงจันทร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจของ “อาร์ทีมิส”  โดยเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว จะมีขนาด 40 กิโลวัตต์  ใช้พลังงานจากแร่ยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ  และตัวเตาปฏิกรณ์จะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 6,000 กิโลกรัม ซึ่ง ปกติแล้ว ตัวเตาปฏิกรณ์ขนาด 40 กิโลวัตต์ จะสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนได้ประมาณ 33 หลัง


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


สำหรับแผนขั้นต่อไปของนาซา คือ ขยายสัญญาระยะเวลาโครงการระยะที่ 1 เพื่อพัฒนาทิศทางของระยะที่ 2 ให้ดีขึ้น รวมถึงการออกแบบเตาปฏิกรณ์ขั้นสุดท้าย สำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ ซึ่ง คาดว่าจะมีการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่สนใจมาเข้าร่วมประมูลได้ในปี 2578 จากนั้น นาซาตั้งเป้าไว้ว่า จะส่งเตาปฏิกรณ์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ เพื่อเริ่มต้นใช้งาน สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำสัญญาและร่วมมือในโครงการระยะแรกกับนาซาและกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มี 3 แห่ง ได้แก่ ล็อกฮีด มาร์ติน, เวสติงเฮาส์ และไอเอ็กซ์ (IX) บริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่ง ได้รับมอบหมาย ให้ยื่นแบบร่างเตาปฏิกรณ์ และระบบการทำงานย่อยต่าง ๆ  รวมถึงประมาณการต้นทุน เพื่อปูทางไปยังเป้าหมาย ในการผลิตพลังงานสำหรับมนุษย์ ที่ขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ให้ได้อย่างน้อย 10 ปี นอกจากนี้ เตาปฏิกรณ์ยังน่าจะมีประโยชน์ กับในพื้นที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงตลอดเวลา และคาดว่าเต็มไปด้วยน้ำแข็งและสารชนิดอื่น ๆ


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ด้าน สมาคมวิทยาศาสตร์การบินแห่งชาติจีน ประกาศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ภายในปี 2593 ในพื้นที่แอ่งสเวอร์ดรุป-เฮนสัน (Sverdrup-Henson) บนขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยจะมีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีด้านสถาปนิกที่ทันสมัยสูงสุดในการก่อสร้างฐานปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกสบายสำหรับนักอวกาศที่จะขึ้นไปใช้ชีวิต และปฏิบัติภารกิจภายในฐานดังกล่าว ซึ่ง อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อันตรายสุดขั้ว จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์การบินแห่งชาติจีน ประกาศเปิดรับความคิดเห็นจากเยาวชนทั่วโลก เกี่ยวกับแนวทางและเทคโนโลยีจำเป็นด้านต่างๆ สำหรับการสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ โดยจะเปิดรับข้อมูลต่างๆ จากนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนจากทั่วโลก ตลอดระยเวลา 5 ปีข้างหน้า ข้อมูลใดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์จะถูกนำมาปรับใช้งานจริงในการก่อสร้างฐานปฏิบัติการถาวรบนดวงจันทร์ต่อไป


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ส่วนอินเดีย หลังจากประสบความสำเร็จ ส่งยานสำรวจ “ปรัชญาน” (Pragyan) น้ำหนัก 26 กิโลกรัม ออกจากยานลงจอด “วิกรม” (Vikram) ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ ตามภารกิจ “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) ของอินเดียแล้ว หลังยานลงจอดบนพื้นที่แถบขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมปีที่ผ่านมา อินเดียกำลังต่อยอดความสำเร็จ ก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศ  โดย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ระบุว่า ความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่ง มีเพียงสหรัฐฯ, รัสเซีย และจีน ที่ทำได้ ถือเป็นชัยชนะสำหรับ “มนุษยชาติทั้งมวล” ขณะที่ ยานจันทรายาน-3 มีมูลค่า 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 2,612 ล้านบาท เป็นภารกิจที่ใช้เงินทุนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก และยังเป็นข้อพิสูจน์ถึงวิศวกรรมอวกาศที่ประหยัดของอินเดียด้วย


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เร่งเดินหน้าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่ง ได้รับงบสนบสนุนจากนาซา ออกมาเตือนว่าบนดวงจันทร์ อาจไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย หลังจากงานวิจัยพบว่า ดวงจันทร์กำลังหดตัวลงทีละนิด หากเปรียบเทียบ คือ คล้ายกับผลองุ่นที่ค่อย ๆ เหี่ยวลง กลายเป็นลูกเกด ซึ่ง จะทำให้ผิวด้านนอกเกิดรอยแยกขึ้น และรอยแยกเหล่านี้ จะก่อให้เกิด “มูนเควก” หรือ แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ ที่อาจกินระยะเวลานานหลายชั่วโมง จากการตรวจสอบ พบว่า เส้นรอบวงของดวงจันทร์ มีขนาดลดลงประมาณ 45 เมตร ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ล้านปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่สำคัญในแง่ของธรณีวิทยา แต่ก็ยังน้อยเกินไปที่จะส่งผลกระทบต่อโลก รวมถึง วัฏจักรของน้ำขึ้นน้ำลง 


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ข้อมูลจากยานสำรวจอวกาศ แอลอาร์โอ (LRO) ของนาซา  ที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเพื่อทำหน้าที่สำรวจรอบดวงจันทร์ เมื่อปี 2552 และเก็บข้อมูลมานานราว 7 ปี แสดงให้เห็นว่า มีแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์เกิดขึ้นจริง แต่หากเทียบความรุนแรงกับบนโลกแล้ว ถือว่าค่อนข้างน้อยกว่า โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด น่าจะเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่เกิดขึ้นบนโลก หากดูตัวเลขอาจคิดได้ว่าไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่เนื่องจากบนดวงจันทร์ มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าบนโลก ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับเดียวกัน จะมีความอันตรายมากกว่า  เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงที่ช่วยยึดเราไว้ กับพื้นผิวดวงจันทร์ นอกจากนี้ เรายังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในช่วงไหนด้วย


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว


ส่องภารกิจสำรวจ ดวงจันทร์ หลายชาติหวังตั้งถิ่นฐานระยะยาว



เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.space.com/nasa-moon-nuclear-reactor-project-first-phase-complete

https://edition.cnn.com/2024/01/31/world/moon-shrinking-moonquakes-south-pole-scn/index.html 

ข่าวแนะนำ