25 ปีที่รอคอย 'ยกเลิกครูอยู่เวร' ย้อนปมเหตุ ‘ถูกทำร้าย-หวังข่มขืน’ อาชีพที่ความรับผิดชอบสูง สวนทางรายได้
25 ปีที่รอคอย 'ยกเลิกครูอยู่เวร' ย้อนปมเหตุ ‘ถูกทำร้าย-หวังข่มขืน’ อาชีพที่ความรับผิดชอบสูง สวนทางรายได้
25 ปีที่รอคอย 'ยกเลิกครูอยู่เวร'
ย้อนปมเหตุ ‘ถูกทำร้าย-หวังข่มขืน’
อาชีพที่ความรับผิดชอบสูง สวนทางรายได้
ครู ‘ถูกทำร้าย-หวังข่มขืน’ ปัจฉิมบท สู่การยกเลิกคำสั่ง
ครูสาว วัย 41 ปี ถูกชายอายุ 38 ปี ทำร้ายร่างกายระหว่างการเข้าเวรในช่วงวันหยุด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ครูบาดเจ็บมีแผลที่ปากและกระดูกซี่โครงหัก 3 ซี่ โดยผู้ต้องหา คือ คนที่เข้ามารับจ้างตัดต้นไม้ในโรงเรียน แต่เมื่อเห็นครูอยู่เพียงลำพัง จึงฉวยโอกาสเข้าไปทำร้ายร่างกาย หวังล่วงละเมิดทางเพศ
เหตุการณ์นี้ นับเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญ ของการเรียกร้อง ‘ยกเลิกครูอยู่เวร’ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์เอง ก็มีการผุด #ยกเลิกครูเวรกี่โมง รวมถึงสมาพันธ์ครู ก็ตั้งคำถามในประเด็นนี้เช่นกัน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิก “ระเบียบการอยู่เวรยามของครู” คืนความปลอดภัยให้กับครู แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการเรียกร้องมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เป็นผล จนมาเกิดเหตุการณ์นี้ และนำไปสู่การ ‘ยกเลิก’ ระเบียบดังกล่าว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูในการอยู่เวรว่า ครม. ได้พิจารณายกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ซึ่งผ่านมากว่า 25 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป โดยให้มีการยกเลิก ยกเว้นให้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณา
ย้อนคำสั่ง 25 ปี ปฐมบทการ ‘อยู่เวร’
นับเป็นเวลากว่า 25 ปี แล้ว ที่มติคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ สถานที่ราชการต้องมีการปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรยาม ลงคำสั่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 โดยมีเนื้อหาสำคัญของคำสั่งนี้ ระบุว่า
มติเห็นชอบหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติต่อไป
การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรในแต่ละผลัดให้มีหัวหน้าเวร 1 คนและผู้อยู่ร่วมปฎิบัติหน้าที่เวรอีกหนึ่งคนหากส่วนราชการหรือหน่วยงานแห่งใดมีจำนวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรน้อยไม่สะดวกแก่การปฎิบัติให้ลดจำนวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรให้ตามความจำเป็นโดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น
ให้แต่ละผลัดของการจัดเวรรักษาการณ์ให้มีผู้ตรวจเวร 1 คนโดยให้ผู้ตรวจเวรต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงกว่าผู้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร
การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับใดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์หรือผู้ตรวจเวรให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานนั้นจะกำหนดตามความเหมาะสม
ให้จัดทำหลักฐานการจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรโดยกำหนดวันเวลาและตัวบุคคลไว้ให้แน่นอน
การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรของสตรีให้จัดให้ปฎิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลากลางวันของวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการเว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่ต้องปฏิบัติในเวลากลางคืนโดยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรสตรีในกรณีนี้ด้วย
ถ้าปรากฏว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรหรือผู้ตรวจเวรจงใจละทิ้งหน้าที่ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดหรือความร้ายแรงแก่กรณี
‘ครู’ ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง กับ รายได้ที่สวนทาง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่าครู ไว้ดังนี้ “ครู” คือ ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ว่า “คุรุ” ซึ่งหมายถึง หนัก
ในทางที่ควรจะเป็น ‘ครู’ ก็ต้องมีหน้าที่ ตามที่พจนานุกรม ระบุไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ครู’ ต้องแบกรับหน้าที่หลายอย่างนอกเหนือจากการสอน ไม่ว่าจะเป็น การอยู่เวร การโบกรถหน้าโรงเรียน ทำเอกสารประเมิน ทำหน้าที่ทำงานธุรการ หนักไปกว่านั้น ‘ครู’ คนเดียวต้องสอนควบชั้น วิ่งลอกสอนคนเดียว ทักชั้นเรียน บางโรงเรียนผู้อำนวยการ ยังต้องควบตำแหน่งภารโรงด้วย
จะเห็นได้ว่าอาชีพ ‘ครู’ นอกจากต้องรับผิดชอบการศึกษาของเด็กทุกคน ที่พ่อแม่ คาดหวังอย่างหนักแล้ว ยังต้องแบกรับงานที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จนบางครั้งไม่มีเวลาในการสอน
จากปัญหาทั้งหมด ถูกสังคมตั้งคำถามว่า ‘ค่าตอบแทน’ ที่ครูได้รับ มันสมเหตุสมผลหรือไม่?
ทีม TNN Exclusive ขอไล่เรียงและสรุปค่าตอบแทนของ ‘ข้าราชการครู’ มาให้ดูกันว่า ความความผิดชอบของครู เหมาะสมกับ ค่าตอบแทน หรือไม่?
เงินเดือนขั้นต่ำ/ขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ปัจจุบัน ดังนี้
ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ 15,050 บาท ขั้นสูง 24,750 บาท
ครูคศ.1 ขั้นต่ำ 15,440 บาท ขั้นสูง 34,310 บาท
ครูคศ.2 ขั้นต่ำ 16,190 บาท ขั้นสูง 41,620 บาท
ครูคศ.3 ขั้นต่ำ 19,860 บาท ขั้นสูง 58,390 บาท
ครูคศ.4 ขั้นต่ำ 24,400 บาท ขั้นสูง 69,040 บาท
ครูคศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท ขั้นสูง 76,800 บาท
เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น ‘วันครู’ Rocket Media Lab ได้เผยแพร่ข้อมูล ผลสำรวจความคิดเห็นจากครูกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ครูอยากขอ ‘เงินเดือน-ค่าวิทยฐานะ’ เพิ่ม มากที่สุด 49.17% นับเป็นเสียงสะท้อน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข และรีบเข้ามาดูปัญหานี้ ดูแลขวัญและกำลังใจ เพื่อให้บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ สร้างคนคุณภาพ เป็น ‘เรือจ้าง’ ที่พา ‘ศิษย์’ ถึงฝั่งได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ภาพ AFP
เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการ TNNOnline
ข่าวแนะนำ