ขุมทรัพย์ "แร่ลิเทียม" ในไทย ใช่ “ความหวัง” สู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV หรือไม่?
ขุมทรัพย์ใหม่ "แร่ลิเทียม" ในไทย ใช่ “ความหวัง” สู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV หรือไม่?
นับเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ เมื่อ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการสำรวจแร่ลิเทียม ซึ่ง เป็นหินอัคนี เนื้อหยาบมาก สีขาว หรือ หินเพกมาไทต์ ซึ่ง เป็นหินต้นกำเนิด ที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือ แร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียม ที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่
- แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย ร้อยละ 0.45
- แหล่งบางอีตุ้ม ที่อยู่ระหว่างการสำรวจรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง โดยทั้งสองแหล่งตั้งอยู่ใน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
สำหรับปริมาณแร่ลิเทียมสำรอง 14.8 ล้านตันที่พบในแหล่งเรืองเกียรตินั้น ถือเป็นปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก โบลิเวีย และอาร์เจนตินา
แร่ลิเทียม (Li) คือเป็นโลหะเบาที่สุดในโลหะทั้งมวล ทนความร้อนได้สูง และสามารถประจุพลังงานในแบตเตอรี่ได้เป็นปริมาณสูงมาก
แร่ลิเทียม เป็นส่วนประกอบหลักของเซรามิกชนิดทนความร้อน แก้ว อยู่ในแบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เครื่องฟอกอากาศ จาระบีหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ฯลฯ และลิเทียมยังถูกนำมาใช้ในแบตเตอรี่ความจุสูง ชนิดประจุใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่กำลังเติบโต ได้ทำให้ความต้องการลิเทียมสูงขึ้น
"ลิเทียม" ไทยสมบูรณ์เทียบ 37 แหล่งทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ ผศ.อลงกต ฝั้นกา อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา ระบุการศึกษาแร่แร่ลิเทียมที่พบในจังหวัดพังงามีความสมบูรณ์เทียบเท่ากับแร่ลิเทียม ที่ค้นพบในอีก 37 แหล่งทั่วโลก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ประเทศไทยจะได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำแร่ลิเทียมมาผลิตแบตเตอร์รี่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ขั้นตอนยังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว
จากการค้นพบ แร่ลิเทียม ล่าสุดถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทยที่จะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ จากเป็นผู้บริโภคก็จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำแร่ลิเทียมมาผลิตแบตเตอร์รี่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากหลายภาคส่วน ถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว และความต้องการแร่ลิเทียมในอนาคต
“ไทย” พบแหล่งแร่ "ลิเทียม" จริง แต่ไม่น่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ “Jessada Denduangboripant (อาจารย์เจษฎ์)” ได้ให้ข้อมูลว่า นับว่าเป็นข่าวดีจริง ๆ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก ที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น “Lithium” แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเทียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ ?
โดยระบุเพิ่มเติมว่า น่าจะเข้าใจผิดกัน เพราะตัวเลข "14.8 ล้านตัน" ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า "หินเพกมาไทต์ " ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้น
ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน
ซึ่งถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเทียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ดร.เจษฎา ยังระบุอีกว่า ถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตันนี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน
กพร.ยัน! ข้อมูลแร่ลิเทียมคลาดเคลื่อน ไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก
ล่าสุดวันนี้ 19 ม.ค.67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ชี้แจงแล้วว่า พบแร่ 14.8 ล้านตันจริง แต่เป็น Mineral Resource ที่หมายถึงปริมาณทางธรณี ไม่ใช่ Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมที่โลกใช้เทียบกัน
ดังนั้น สรุปข้อมูลได้ว่า การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากร โลหะลิเทียม ของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป
ภาพ TNNOnline
ข่าวแนะนำ