TNN ‘หลักนิติธรรม’ ความเป็นธรรมและยอมรับได้ในตัวกฎหมายของคนในประเทศ ที่วันนี้ไทยกำลังสร้างฐานรากเพื่อคนรุ่นต่อไป

TNN

TNN Exclusive

‘หลักนิติธรรม’ ความเป็นธรรมและยอมรับได้ในตัวกฎหมายของคนในประเทศ ที่วันนี้ไทยกำลังสร้างฐานรากเพื่อคนรุ่นต่อไป

‘หลักนิติธรรม’ ความเป็นธรรมและยอมรับได้ในตัวกฎหมายของคนในประเทศ ที่วันนี้ไทยกำลังสร้างฐานรากเพื่อคนรุ่นต่อไป

หากกล่าวถึงคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ หลายคนอาจไม่คุ้นเคยเท่ากับคำว่า ‘หลักนิติบัญญัติ’ที่เราเรียกอย่างง่ายว่าข้อกฎหมาย แต่รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว คำทั้งสองจะต้องเกิดมาเคียงคู่กันเพื่อทำให้สังคมเกิดระเบียบวินัยไปพร้อมกับการเคารพในสิทธิและเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ให้ความหมายและอธิบายคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ โดยระบุว่าคำดังกล่าวมาจากคำว่า ‘The Rule of Law’  ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระบบกฎหมายอังกฤษ ซึ่งในอังกฤษมีแนวความคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ควรจะถูกปกครองโดยมนุษย์ แต่ควรจะต้องถูกปกครองโดยกฎหมาย


อย่างไรก็ตามเมื่ออ้างอิงจาก ศาลรัฐธรรมนูญของไทยหลักการสำคัญอันเป็นสาระสำคัญของ ‘หลักนิติธรรม’ ประกอบด้วย 7 หลักการคือ 


1. หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพราะเป็นหลักที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบอำนาจ และการถ่วงดุลอำนาจ


2. หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หลักนิติธรรมมีความเกี่ยวพันกันกับสิทธิในเสรีภาพของบุคคล และสิทธิในความเสมอภาค สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นพื้นฐานของ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ 


3. หลักความชอบธรรมด้วยกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง การใช้กฎหมายของฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายปกครองที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนมีผลมาจากกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบ จากตัวแทนของประชาชน 


4. หลักความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา เป็นหลักที่เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายปกครองที่ออกกฎหมายลำดับรอง กำหนดหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายให้เป็นตามหลักความแน่นอนของกฎหมาย ห้ามมิให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง และหลักความพอสมควรแก่เหตุ


5. หลักความอิสระของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสามารถทำหน้าที่ในทางตุลาการได้โดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ โดยผู้พิพากษามีความผูกพันเฉพาะต่อกฎหมายและ ทำการพิจารณาพิพากษาภายใต้มโนธรรมของตนเท่านั้น อิสระจากคู่ความ ความอิสระจากรัฐ และความอิสระจากสังคม


6. หลักไม่มีความผิด และไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย เมื่อไม่มีข้อบัญญัติทางกฎหมายให้เป็นความผิด แล้วจะเอาผิดกับบุคคลนั้น ๆ มิได้


7. หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับให้เป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับที่สูงสุดในระบบกฎหมายของรัฐนั้น และหากกฎหมายที่อยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับ


เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ได้มีการจัดเวทีสาธารณะ ‘Rule of Law Forum : Investing in the Rule of Law for a Better Future’ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 3 องค์กร คือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ  The World Justice Project (WJP) และ สื่อมวลชน




ทีมข่าว TNN Online ได้สรุปสาระสำคัญของแต่ละบุคคลที่ทำงานและเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักนิติธรรมของประเทศไทย มาดังนี้


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุใจความว่า ในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะปักหมุดการทำงานและเริ่มทำให้เรื่องหลักนิติธรรมมีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องไปในอนาคต


การฟื้นฟูหลักนิติธรรม จะทำให้ประเทศไทยมีการทำให้การดำเนินธุรกิจง่าย(Ease of Doing Business) ที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับหมู่นักลงทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เพราะการลงทุนของนักลงทุนจะได้รับการปฏิบัติบนหลักกฏหมายอย่างเป็นธรรม


การมีหลักนิติธรรมจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่ช่วยในการขจัดคอรัปชั่นให้หมดไปได้ ทำให้คนทำผิดไม่สามารถกระทำผิดได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการ นักการเมือง ประชาชน กล้าที่จะร้องเรียน เป็นการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการคอรัปชั่นไปพร้อมๆกัน


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาประเด็นบทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมในประเทศไทย ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม


สิ่งที่มุ่งเน้นคือคำว่า ‘ความยุติธรรม’ เนื่องจากคำนี้เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้สังคมหรือการรวมตัวเป็นสังคม หรือประเทศชาติเกิดขึ้นได้ หากสังคมใดขาดซึ่งความยุติธรรม การรวมตัวเป็นประเทศชาติ ก็อาจจะมีการแตกแยก


โดยกระทรวงยุติธรรมใช้วิธีคิดเพื่อทำให้สังคมมีสันติภาพและสันติสุข ประการที่ 1 จะต้องทำให้ประชาชนดีคือมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความเป็นอยู่นอกจากปัจจัย 4 ที่ทำให้อยู่ได้แล้ว ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำว่าประชาชนดีอาจรวมถึงประชาชนต้องได้รับการศึกษา การวัดคุณภาพของประเทศควรวัดที่ประชาชน วัดที่คน



ประการที่ 2 ที่เห็นว่ามีความสำคัญคือจะต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดี และมีกฎหมายที่ใช้ในการบริหารประเทศที่ดี คำว่ากฎหมายที่ดีต้องเป็นกฎหมายที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาประชาชนต้องยอมรับในกฎหมายนั้น


พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ความสำคัญอีกประการที่คือจะต้องมีผู้นำที่ดี ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่ให้ความยุติธรรมกับประชาชน มีพลัง มีภาวะผู้นำ มีความซื่อสัตย์


ถ้า 3 สิ่งนี้เกิดขึ้นคิดว่านี่คือเป้าประสงค์เป้าหมาย คนรุ่นใหม่ ก็สามารถขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่าได้ อย่างน้อยที่สุดในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง 4 ปีข้างหน้าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ที่จะเดินหน้าทำคือทำให้บ้านเมืองมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในมุมหลักนิติธรรมกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ระบุว่า เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยแผนเศรษฐกิจตัวใหม่ ปัญหาของเศรษฐกิจประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องหนี้ โดยเฉพาะเรื่องหนี้นอกระบบ 


นอกจากนี้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็ถือเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามอง แต่ในภาพใหญ่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยที่ทุกคนพูดถึงตรงกันคือเรื่องทุจริคคอรัปชั่น


นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ความท้าทายต่ออุตสาหกรรมไทยโดยตรงประกอบด้วยเรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ตามด้วยเรื่องต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบแพง ผลิตภาพแรงงานต่ำ การขาดแคลนแรงงาน ขาดเทคโนโลยีนวัตกรรม ต้นทุนโลจิสติกส์สูง และค่าเงินบาทผันผวน


ในส่วนตัวมองว่าความสามารถของประเทศไทยจะดีขึ้นได้ถ้าปรับปรุงใน 4 ด้านหลัก Economic Performance ,Government Efficiency ,Business Efficiency และ Infrastructure 


“สิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาตลอดให้มีการปรับเปลี่ยน คือ เรื่องของกฎหมายที่ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม ยกเลิกแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นกว่า 1,000 กระบวนงาน ซึ่งสร้างต้นทุนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการปรับลดกฎหมายได้ ภาคเอกชนจะสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 0.8% ของ GDP” นายเกรียงไกร กล่าว


นางพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลักนิติธรรมเป็นหลักที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่สำหรับหลักสิทธิมนุษยชนถือเป็นภารกิจของรัฐซึ่งอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย 


“รัฐต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน คุ้มครองช่วยเหลือ และเยียวยาเมื่อประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เติมเต็มและเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน” นางพรประไพ กล่าว


นางพรประไพ กล่าวต่อว่า หลักนิติธรรมกับหลักมนุษยชนจะไปด้วยกันไม่ได้ถ้าไม่ยึดโยงกับหลักกฎหมายของประเทศที่จะต้องให้ความเป็นธรรม ต้องมีการใช้อำนาจอย่างสอดคล้องกับพันธกิจระหว่างประเทศ ไม่ใช่การใช้อำนาจของรัฐเพื่อการปกครองประชาชนเพียงอย่างเดียว


เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิฯ ถูกเรียกร้องให้ช่วยตรวจสอบหลากหลายกรณี ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 3,000 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง ในจำนวนนั้นมีเยาวชนถึง 300 คน ภาครัฐมีหน้าที่จะต้องดูแลว่า จะต้องมีการปรับแก้ไขอย่างไร เพราะการที่ประชาชนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับ และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีหลายคนที่ไม่ได้รับสิทธิในส่วนนี้


นางพรประไพ กล่าวต่อว่า การใช้หลักนิติธรรมถ้าประเทศไทยจะมองไปข้างหน้า จะเป็นที่สนใจและที่ดึงดูด ของประชาคมระหว่างประเทศเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งด้วย ไม่เช่นนั้นการไปเชิญชวนให้คนมาลงทุนแต่บรรยากาศในประเทศไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันก็คงจะไม่มีใครอยากเข้ามาลงทุน หรือสนับสนุนประเทศไทย


ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า บริบทของประเทศไทยในการพยายามลงทุนในระบบหลักนิติธรรมไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ก็จริง 


เรามีภารกิจที่ทำมาแล้วบ้างเพียงแต่ยังทำไม่ถึงจุดที่จะความแน่นอน การคุ้มครองสิทธิ การปฏิบัติที่เป็นธรรมยังไม่ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าคือหลักนิติธรรม หากจะเกิดศักยภาพได้เต็มที่ ทุกฝ่ายต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป


“วิกฤตศรัทธาเป็นเหตุผลข้อสำคัญที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหลักนิติธรรม รัฐเป็นส่วนสำคัญ แต่รัฐโดยลำพังก็ทำไม่ได้สำเร็จต้องไปพร้อมกับภาคส่วนต่างๆ” ดร.พิเศษ กล่าว


ดร.พิเศษ กล่าวทิ้งท้ายว่า กลไกภาคประชาชน ที่ประกอบด้วย การต่อต้านคอร์รัปชั่น,รัฐบาลโปร่งใสและข้อมูลเปิด,การปฏิรูปกฎหมาย,กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ส่วนนี้ต้องเป็นแรงขับเคลื่อนร่วมกันกับ กลไกภาครัฐที่ประกอบด้วยการเข้าถึงความยุติธรรม,การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน,การตรวจสอบได้,การพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ และรัฐบาลโปร่งใส


คุณคิดว่าวันนี้ประเทศไทยเรา ‘หลักนิติธรรม’ ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและทัดเทียมสำหรับคนในประเทศแล้วหรือไม่


อ้างอิงข้อมูล :

https://occ_th.constitutionalcourt.or.th/article_detail/หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 


https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1283 


ที่มารูปภาพ :

เฟซบุ๊ก Thailand Institute of Justice (TIJ) 


ข่าวแนะนำ