รถไฟฟ้ามาหานะเธอ “ชมพู-เหลือง”กับระบบโมโนเรล
“... “รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู” หรือ “น้องนมเย็น” เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ โมโนเรล (Monorail) สายที่ 2 ของประเทศไทยต่อจาก “รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง” สามารถเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายหลักได้ 4 สาย ตอบโจทย์การเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเจอปัญหารถติดให้กวนใจ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เปิดให้บริการทดลองนั่งฟรีเมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมาและได้ขยายเวลาไปจนถึง 2 ม.ค.2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนช่วงปีใหม่”
“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสีขาวตัดกับสีชมพู ให้ความสดใส และมีรูปทรงที่ทันสมัย ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 53,490 ล้านบาท จากศูนย์ราชการนนทบุรี – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี เปิดบริการตั้งแต่ 6.00น.-20.00 น.และตั้งแต่ 4 ธ.ค.นี้จะปรับเวลาให้บริการใหม่ ส่วนการคิดค่าโดยสารในอัตรา 15-45 บาทจะเริ่มตั้งแต่ 3 ม.ค.2567 สำหรับตัวขบวนรถไฟฟ้าสีชมพูเป็นรุ่นอินโนวา โมโนเรล 300 จากประเทศแคนนาดา กับเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ ยี่ห้อ Bombardier โดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ปู่เซิน บอมบาร์ดิเอร์ เป็นผู้ควบคุมการผลิตจากโรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจอู่หู ประเทศจีน “ระบบโมโนเรล” วิ่งโดยใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีตหรือรางเหล็กเพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก เหมาะแก่การพัฒนาแนวเส้นทางที่มีพื้นที่ไม่มาก ในระหว่างก่อสร้างกระทบการจราจรไม่มากนักทำให้มลพิษPM.ต่ำ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวนและสามารถเพิ่มตู้โดยสารได้มากถึง 7 ตู้ต่อขบวน โดยจะใช้ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรอง 42 ขบวน จุดเด่นคือ ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เพื่อนำผู้โดยสารไปป้อนให้สายหลัก ซึ่งรถไฟฟ้าสายหลักใช้ระบบรางปกติ หรือ เฮฟวี่ เรล (Heavy Rail) สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง “รถไฟฟ้าสีชมพู” มีสถานีเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลัก 4 จุด จุดที่ 1 PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จุดที่ 2 PK14 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จุดที่ 3 PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ตูคต และจุดที่ 4 PK30 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ส่วนความเร็วในการเดินรถสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าต้องนั่งจนสุดสายอาจใช้เวลานาน แต่หากเทียบกับเวลาบนถนนกับรถที่ติดขัด การเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าใช้เวลาน้อยกว่าและสะดวกสบายมากกว่า
ประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวในการทดลองใช้บริการ “น้องนมเย็น” เป็นจำนวนมาก ในวันทดลองบริการฟรีวันแรก(21พ.ย.) มีผู้ใช้รวม 50,910 คน-เที่ยว และเพิ่มขึ้นมากถึง 98,262 คน-เที่ยว ในวันที่ 22 พ.ย. ขณะที่มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการ “น้องนมเย็น” ที่บอกให้ทราบถึงปัญหาที่พบเจอบางส่วน ด้วยความถี่ในการให้บริการ 10 นาที/ขบวน ที่กระทบอย่างหนักในชั่วโมงเร่งด่วนซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้ต้องรอนานและผู้โดยสารก็เต็มจนไม่สามารถเข้าไปในขบวนได้ และอีกจุดที่เป็นปัญหาและมีเสียงบ่นดังๆ กับ “สถานีเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ” และ “สถานีเชื่อมต่อสายสีม่วงที่ศูนย์ราชการนนทบุรี” ที่ยังไม่เปิดให้บริการทำให้ประชาชนต้องเดินไกลมาก ต้องเดินลงมาด้านล่างที่เป็นฟุตบาทซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ ส่วนสาเหตุที่สถานีเชื่อมต่อของทั้ง 2 สายยังไม่เปิดบริการในช่วงนี้ เพราะสายสีชมพูยังอยู่ในช่วงทดลองนั่งฟรี หากปล่อยให้ผู้โดยสารที่มาจากสายสีเขียวหรือสายสีม่วง ทะลักเข้าไปในระบบโดยผ่านทางเชื่อมต่อที่เป็น PAID Area ซึ่งระบบนี้เวลาเปลี่ยนขบวนไม่ต้องออกจากระบบ เช่นกรณี สายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อกันที่สถานีเตาปูน แต่หากกรณีประชาชนใช้บริการต่อก็จะมีปัญหาในการจ่ายค่าโดยสารที่ปลายทาง ดังนั้นจึงต้องรอให้หมดช่วงทดลองให้บริการฟรีก่อนก็สามารถเดินเชื่อมต่อกันโดยสะดวก และสามารถซื้อตั๋วสีชมพูเชื่อมต่อสีเขียวหรือสีม่วงโดยไม่ต้องออกจากระบบ
“รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ที่เปิดทดลองนั่งฟรีตั้งแต่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะคิดค่าบริการปกติเมื่อ 3 ก.ค. อัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับสายสีชมพู คือ 15-45 บาท พบว่า สายสีเหลืองได้ปรับบริการขบวนรถในชั่วโมงเร่งด่วนระยะห่าง 5 นาที จากปกติทุก 10 นาที ผู้ใช้บริการสายนี้จากสถานีลาดพร้าว 101 ลงสถานีสำโรง และต่อสายสีเชียวไปยังที่ทำงานย่านสุขุมวิท บอกว่า การนั่งรถไฟฟ้าทำให้สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้สะดวกมาก ส่วนช่วงเวลาเร่งด่วนผู้โดยสารมากพอสมควรแต่ไม่ถึงกับเบียด พร้อมเสนอแนะเรื่องราคาที่มองว่าหากนั่งระยะไกลตั้งแต่ 15 สถานีหากคิดค่าโดยสารอัตรา 45 บาทก็เหมาะสม แต่หากนั่งระยะใกล้ๆ อาจไม่คุ้มค่าซึ่งปัจจุบันระยะทาง 10 สถานี คิดค่าโดยสาร 45 บาท จึงเสนอปรับค่าบริการให้ปรับระยะใกล้ลงระยะละ 1- 2 บาท ก็จะดีมาก โดยเชื่อว่าจะทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง เป็นระบบขนส่งทางรางในเขตเมืองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ในเส้นทางรถไฟฟ้าBTS สายสุขุมวิท หมอชิต–อ่อนนุช) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ–สะพานตากสิน) ส่วนปี 2547ให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล MRT (บางซื่อ–หัวลำโพง) และมีโครงการก่อสร้างและเปิดบริการระบบขนส่งทางรางต่อเนื่อง เพื่อหวังจะตอบโจทย์การเดินทางของแต่ละคนที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและที่สำคัญคือ ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูล
:โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
:Bangkok Sightseeing