ครบ 1 ปี โศกนาฏกรรมอิแทวอน เหตุการณ์สุดฝันร้ายคืนฉลองเทศกาลฮาโลวีน
ครบ 1 ปี โศกนาฏกรรมอิแทวอน ผู้คน เบียดเสียด ล้มทับกันจนเสียชีวิต เหตุการณ์สุดฝันร้ายในคืนฉลองเทศกาลฮาโลวีน
ครบ 1 ปี โศกนาฏกรรมอิแทวอน ผู้คน เบียดเสียด ล้มทับกันจนเสียชีวิต เหตุการณ์สุดฝันร้ายในคืนฉลองเทศกาลฮาโลวีน
นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด สำหรับเหตุการณ์ที่ผู้คนกว่าร้อยคนแออัด เบียดเสียด ล้มทับ เหยียบกัน จนขาดอากาศและเสียชีวิตที่ย่านอิแทวอน (Itaewon) หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและสถานบันเทิงชื่อดังของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 ช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือเวลา 20.20 น. ตามเวลาในประเทศไทย กลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวชาวเกาหลี รวมถึงนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศทั่วโลกนับแสนคน ต่างหลั่งไหลเข้าไปที่ย่านอิแทวอน
ย้อนเหตุการณ์สะเทือนโลกโศกนาฏกรรมอิแทวอน
สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า นักท่องเที่ยวนับแสนคนต่างเดินเบียดเสียดกันเข้าไปภายในย่านอิแทวอน จนผู้คนเกิดสะดุดและล้มลงภายในตรอกแคบ ๆ บริเวณด้านหน้าโรงแรมแฮมิลตัน ซึ่งมีลักษณะเป็นทางลาด ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มล้มทับกัน เนื่องจากตรอกที่เกิดเหตุเป็นทางลาดยาว 40 เมตร เชื่อมย่านร้านอาหารพลุกพล่านกับถนนใหญ่ มีความกว้างเพียง 4 เมตร หรือเท่ากับผู้ใหญ่ยืนเรียงหน้ากระดาน 6 คน
ผู้คนที่อยู่ทางด้านหลังไม่รู้ว่ามีคนล้มอยู่ด้านหน้า จึงยิ่งเบียดและผลักกันมากขึ้น เพื่อให้คนในแถวขยับ ทำให้เกิดการเบียดเสียดจนกลายเป็นการเหยียบกันอย่างโกลาหล เริ่มมีคนหายใจไม่ออกและหมดสติเป็นจำนวนมาก นับชั่วโมงกว่าเจ้าหน้าที่จะเคลียร์พื้นที่และช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุได้จนทำมห้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
สื่อของเกาหลีใต้รายงานอีกว่า ผู้รอดชีวิตหลายคนต่างบอกว่า ไม่มีทางหนี เพราะสองข้างทางเป็นกำแพงของโรงแรมที่อยู่ในบริเวณนั้น และถูกผลักให้เดินไปตามแรงของคนรอบข้าง โดยไม่สามารถขยับตัวได้เอง ก่อนที่จะถูกดันจนล้มทับ ๆ กันเป็นทอด ๆ
โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 159 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 20 ราย รวมทั้งคนไทย 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเป็นคนหนุ่มสาว เสียชีวิตจากการถูกทับ ถูกเหยียบและขาดอากาศหายใจ และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากเกือบ 200 ราย
ภายหลังเกิดเหตุในเวลาต่อมา ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ได้แถลงแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น พร้อมสั่งลดธงครึ่งเสาและประกาศไว้อาลัย สั่งให้เร่งช่วยเหลือทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และสั่งการให้สอบสวนเหตุการณ์นี้อย่างละเอียด และเรียกร้องให้มีมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก
โศกนาฏกรรมอิแทวอน เกิดเสียงวิจารณ์ เจ้าหน้าที่รับมือได้ไม่ดีพอ
เหตุการณ์เหยียบกันในอิแทวอน ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากประชาชนต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และตำรวจ ว่า หากมีมาตรการความปลอดภัยล่วงหน้าคงไม่เกิดโศกนาฏกรรมนี้
เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดทางการและตำรวจจึงไม่เตรียมมาตรการล่วงหน้าเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการที่มีคนหนาแน่น ทั้งที่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า
ต่อมาตำรวจเกาหลีใต้ ได้เปิดบันทึกการรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายในเกาหลีใต้ พบว่า โทรศัพท์สายแรกที่แจ้งเหตุที่เกี่ยวกับอิแทวอน คือเวลา 18.34 น. วันที่ 29 ตุลาคม หรือ 4 ชั่วโมงก่อนที่จะเกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตในเวลาประมาณ 22.00 น. ของคืนเดียวกัน
ผู้ที่โทรศัพท์แจ้งสายแรก แสดงความเป็นห่วงต่อตำรวจที่รับสายว่า เขาอยู่บนถนนสายหลักในอิแทวอน และตรอกแคบ ๆ ที่อยู่หน้าโรงแรมแฮมิลตันมีคนเบียดเสียดกันมากจนน่ากลัว แต่ยังมีคนเข้าไปในตรอกนี้อยู่เรื่อย ๆ จนน่ากลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นมาได้ เขาคิดว่าตำรวจควรเข้าไปควบคุมดูแล หลังจากสายแรกแล้ว ยังมีคนโทรแจ้งอีกนับสิบสายตลอด 3 ชั่วโมงหลังจากนั้น
จากการประเมินคาดว่า มีประชาชนหลายแสนคนที่ไปรวมกันอยู่ที่อิแทวอนในคืนวันเกิดเหตุ เพื่อฉลองเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากกว่าปกติ ถึงแม้ว่าจะเป็นย่านท่องราตรีที่มีชื่อเสียงอย่างอิแทวอนก็ตาม ซึ่งปกติมีนักเที่ยวเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
ผู้นำเกาหลีใต้สั่งสอบ ตำรวจเมินสายโทรแจ้งก่อนเกิดเหตุ
ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ แสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง หลังทราบเรื่องตำรวจไม่ดำเนินการใด ๆ หลังจากได้รับแจ้งสายด่วนถึง 11 สายเรื่องย่านอิแทวอนมีผู้คนมากจนเสี่ยงอันตราย ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม พร้อมจะลงโทษอย่างหนักกับผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันล่วงหน้าได้
ผู้นำเกาหลีใต้ แถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการกรณีเกิดเหตุสลดย่านอิแทวอน และยืนยันจะลงโทษตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องเหตุ ยกเครื่องมาตรการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจะดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับสาเหตุอย่างละเอียดและเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส
หลังจากมีการยืนยันว่า ประชาชนโทรศัพท์แจ้งไปยังหมายเลขฉุกเฉินหลายครั้ง ครั้งในวันเกิดเหตุ และโทรแจ้งข้อมูลก่อนจะเกิดเหตุถึง 4 ชั่วโมง แต่การตอบสนองเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดประสิทธิภาพอย่างมาก โดยมีเจ้าหน้าที่เพียง 137 คน ควบคุมผู้คนซึ่งหลั่งไหลมาย่านอิแทวอน
เอาผิดเจ้าหน้าที่ 23 นาย ล้มเหลวปฎิบัติหน้าที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ล่าช้า
คณะสอบสวนเฉพาะกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ สรุปคดีเหตุสลดย่านอิแทวอน ซึ่งพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้มเหลวในการปฎิบัติหน้าที่ ตอบสนองต่อเหตุการณ์ล่าช้า โดยพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 23 นาย รวมทั้งผู้อำนวยการเขตยงซาน และผู้กำกับการสำนักงานตำรวจยงซาน พื้นที่เกิดเหตุในข้อหา “ประมาททางวิชาชีพ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนออกมาร่วมงานมากกว่า 100,000 คน แต่ตำรวจนครบาลโซล ส่งเจ้าหน้าที่เพียง 137 นาย มาประจำการที่ย่านอิแทวอน
ซ้อมมาตรการควบคุมฝูงชน ก่อนครบรอบ 1 ปีเหตุเหยียบกันครั้งใหญ่
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ล่าสุดทางการกรุงโซลซักซ้อมมาตรการควบคุมฝูงชน ก่อนครบรอบ 1 ปี เหตุเหยียบกันครั้งใหญ่ที่เทศกาลฮาโลวีนในย่านอิแทวอน โดยเกาหลีใต้ได้นำกล้องวงจรปิดพร้อมแสดงการทำงานของโปรแกรม AI ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนเมื่อมีคนอยู่ในพื้นที่มากเกินไป
ระบบแจ้งเตือนล่วงหน้านี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันฮาโลวีน ประกอบด้วยกล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งไว้ตามจุดสำคัญ ซึ่งจะวิเคราะห์การเคลื่อนไหวและความหนาแน่นเบียดเสียดของประชาชน และแจ้งเตือนทางการเมื่อพบสัญญาณอันตราย
อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 นี้ ชาวเกาหลีใต้และญาติของผู้เสียชีวิต จะจัดพิธีรำลึกครบ 1 ปี ที่บริเวณโซลพลาซา (Seoul Plaza) ตรงข้ามกับศาลาว่าการกรุงโซล เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต
โศกนาฏกรรมใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
แม้ว่าจะผ่านมาจนครบ 1 ปี แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นับตั้งแต่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่มเมื่อปี 2557 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นกว่า 300 ราย
ภาพจาก AFP