สำเร็จ !! “THEOS-2” ทะยานสู่อวกาศ เดินหน้าภารกิจสำรวจโลก
“ หลัง THEOS-2 ต้องเลื่อนปล่อยในครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคในช่วง 14 นาทีสุดท้ายของจรวดนำส่ง VEGA แต่ในการปล่อยครั้งที่ 2 วันที่ 9 ตุลาคม 2566 THEOS-2 ก็ทะยานสู่ห้วงอวกาศเป็นผลสำเร็จ พร้อมเดินหน้าภารกิจสำรวจโลก”
2 วันถัดจากเลื่อนปล่อยครั้งแรก ในที่สุด 9 ตุลาคม 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 หรือ (Thailand Earth Observation Satellite 2) ถูกนำส่งด้วย จรวด VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา(Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ทะยานสู่วงโคจรอวกาศเป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางการลุ้นระทึกของสักขีพยานที่ร่วมสังเกตการณ์ ก่อนจับมือแสดงความยินดีที่ภารกิจครั้งที่ 2 ผ่านไปได้อย่างราบรื่น
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ย้ำว่า ภารกิจนี้ ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของ อว. และประเทศไทย หลังจากนี้ดาวเทียม THEOS-2 จะได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก
“โดยหลังจากปล่อยดาวเทียม จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 - 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร”
เปิดภารกิจ THEOS-2 นับ 1 เดินหน้าสำรวจโลก
THEOS-2 เป็นดาวเทียม 1 ใน 2 ดวง ที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ด้วยศักยภาพและคุณสมบัติเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศไทย สามารถถ่ายภาพให้รายละเอียดสูงมากขนาด 50 เซนติเมตร หมายถึง วัตถุอะไรที่มีขนาดมากกว่า 50 เซนติเมตร ทุกอย่างดาวเทียมถ่ายภาพได้ชัดเจนทั้งหมด มีภารกิจหลักคือการบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทย และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ทันสมัย แก้ไขปัญหา และบรรเทาทั้งทางด้านภัยพิบัติ เกษตร ป่าไม้ ทะเล ผังเมือง สิ่งแวดล้อมฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA อธิบายขั้นตอนเมื่อ THEOS-2 เข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน เพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูล โดยจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศต่อไป
เปิดไทม์ไลน์วันแรก “THEOS-2” กลางห้วงอวกาศ
หลัง “THEOS-2” ทะยานสู่ห้วงอวกาศ เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อัปเดตสถานะของดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง
โดยราว 2 ชั่วโมงที่ขึ้นจากโลก หรือราว ๆ 10.54 น. พบว่า THEOS-2 มีการติดต่อกับสถานีควบคุมดาวเทียมที่ศรีราชาได้เป็นครั้งแรกหลังเข้าสู่วงโคจร
จากนั้นช่วงบ่าย ประมาณ 13:48 น. ทีมวิศวกรจาก GISTDA และ Airbus สามารถติดต่อดาวเทียม ด้วยสถานีขั้วโลกที่เมืองคิรูน่า ประเทศสวีเดนได้ และมีการตรวจสอบ สถานะระบบต่าง ๆ ของดาวเทียม
ก่อนช่วงดึกราว 21.31 น. THEOS-2 ผ่านไทยมีการติดต่อกับสถานีควบคุมดาวเทียมที่ศรีราชาอีกครั้ง จากการตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพดาวเทียมระบบต่าง ๆ ของดาวเทียมสามารถทำงานได้ดี
ดาวเทียม THEOS-2 สานต่อภารกิจ THEOS-1
THEOS-2 ทำหน้าที่สานต่อภารกิจสำรวจโลกต่อจากดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่ง THEOS-2 ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ 10 ปี หรือใช้งานได้ถึงปี 2576 แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบการใช้งานจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและพัฒนาดาวเทียมจากบริษัทแอร์บัสฯ สาธารณรัฐฝรั่งเศส THEOS-2 จะสามารถใช้งานได้นานเท่ากับ หรือมากกว่า THEOS-1
ระดับการโคจรของ THEOS-2 จะอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 621 กิโลเมตร เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) สามารถบันทึกภาพได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก จะโคจรกลับมาที่ตำแหน่งเดิมทุก ๆ 26 วัน แต่โคจรผ่านประเทศไทยทุกวัน สามารถปรับเอียงเพื่อการถ่ายภาพได้ 45 องศา จับภาพความกว้าง อยู่ที่ 10.3 กิโลเมตร ถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
THEOS-2 ความหวังจุดเปลี่ยนการจัดการทรัพยากรไทย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงศักยภาพดาวเทียม THEOS-2 ที่สามารถถ่ายภาพรายละเอียดสูงไว้ว่า
เป็นประโยชน์มาก ๆ กับงานสำรวจตรวจตราทั้งทะเล ทั้งป่า และยังมีประโยชน์ในการจัดการ ปรับพื้นที่ ฟื้นฟู บริหารจัดการ ใช้ร่วมกับการสำรวจภาคสนาม และการใช้โดรน
“สมัยก่อนกว่าจะหาปัญหาในแนวปะการังแต่ละแห่งเจอ มันไม่ใช่ง่ายๆ แนวปะการังหลายพันแห่ง อยู่ตามเกาะใหญ่น้อยเกือบพัน จะให้ไปสำรวจดูตลอด เอาแค่ทำทุกปียังทำไม่ได้ ปัจจุบันรอบการสำรวจปะการังใช้เวลา 4-6 ปี แต่เมื่อมี THEOS-2 จะทำให้มีข้อมูลละเอียดพอในทุกเดือน เพราะมีรอบโคจร 26 วัน และยังถ่ายภาพมุมเอียงในเวลาถี่มากขึ้น ทำให้การตรวจตราเหตุผิดปกติจะทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น และทันท่วงได้มากขึ้น … THEOS-2 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดการทรัพยากรของประเทศไทย”
ด้วยศักยภาพดาวเทียม “THEOS-2” ที่จะทำให้ได้ข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลฐานที่สำคัญ สามารถนำไปพัฒนาประเทศ สร้างประโยชน์ พัฒนาความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการเมือง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดน้ำ ภัยพิบัติ และด้านความมั่นคง “THEOS-2” จึงเป็นได้มากกว่าดาวเทียม และเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน
จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง
ภาพ และ ข้อมูลจาก GISTDA