รถขยะพลังงานไฟฟ้า ความหวังใหม่ของ "คนกรุง" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 90%
รถขยะพลังงานไฟฟ้า ความหวังใหม่ของ "คนกรุง" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 90%
จากการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ กรุงเทพมหานคร ที่นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับ ฝั่งของคณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีความสำคัญเปรียบเหมือนหัวใจสูบฉีดหล่อเลี้ยงภาพรวมของประเทศ
จนนำมาสู่การตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร อันประกอบด้วย 7 บคคลจาก 7 หน่วยงานสำคัญในแต่ละด้าน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งในที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องเร่งด่วนสำหรับกรุงเทพฯที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว คือเรื่องการจราจร,เศรษฐกิจ,การท่องเที่ยว,การนำสายสื่อสารลงดิน และ ฝุ่นPM2.5
ในส่วนรายละเอียดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้องเร่งรัดแก้ไข แบ่งย่อยเป็นเรื่อง มาตรการควบคุมการเผาข้าว อ้อย ผลิตผลทางการเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ และ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย เช่น รถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV และรถน้ำมันมาตรฐาน EURO5
ซึ่งปัญหาฝุ่น PM2.5นี้มีการวางหน่วยงานให้เข้ามาดูแลรับผิดชอบ 5 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร(กทม.),กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.),กระทรวงคมนาคม(คค.),กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)
ประเด็นใหญ่อย่างรถเก็บขยะไฟฟ้า(EV) ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดแบบนับครั้งได้
ย้อนกลับไปในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในส่วนประเด็น รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า ทีมข่าว TNN Online ได้เข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์นโยบายชัชชาติ หรือ www.chadchart.com/policy เมื่อลองค้นหาด้วยคำว่า ‘รถขยะ’
มีการพูดถึงในเชิง การจัดการขยะแบบระยะสั้น และ ระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรให้ลดผลกระทบทางสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย และการบริหารงบประมาณจากภาษีให้ใช้งบน้อยลง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565)
อีกส่วนที่ดูจะเกี่ยวข้องกับรถขยะโดยตรง คือ นโยบายรถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน นโยบายดังกล่าวคือความคิดในการปรับเปลี่ยนขนาดรถขยะให้เอื้อต่อซอกซอยเล็กที่รถขยะความจุขนาด 5 ตันไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่มีการขยายความหรือเชื่อมโยงว่ารถที่ใช้จะเป็นรถขยะพลังงานไฟฟ้า
ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายชัชชาติ หยิบยกประเด็น การพิจารณาการออกข้อบัญญัติ กทม. เกี่ยวกับการให้รถยนต์สาธารณะเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)และเล็งเห็นว่าการใช้รถEV สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ดี แต่ทั้งนี้จะขอพิจารณาความเป็นไปได้ 2 เรื่องก่อน คือ เงินที่จะลงทุน และ ความคุ้มค่า
จากนั้น 6 เดือนต่อมาในช่วงกลางเดือนสิงหาคม นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมมีการหารือ การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะของรถ เก็บขยะ กทม. โดยมีการเสนอให้เปลี่ยนเป็นระบบรถไฟฟ้า
ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่าสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่มีรถจำนวนมากจึงควรเปลี่ยนรถที่ใช้งานเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายผู้บริหาร แต่ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียการเช่ารถแบบไฟฟ้าและแบบใช้น้ำมันเพื่อก่อนให้เห็นความคุ้มค่า
และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้ว่าฯกทม. ได้แถลงผลหารือร่วมกับนายกฯ โดยระบุถึงประเด็นรถระบบไฟฟ้า ใจความว่า แนวทางการเปลี่ยนรูปแบบการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้าถือเป็นการเปลี่ยนตามสัญญาเก่าที่กำลังจะหมดลง ฉะนั้นกทม.จะทยอยเปลี่ยนไม่ใช่การเปลี่ยนพร้อมกัน ทำให้ในช่วงแรกจะมีรถขยะทั้งชนิดน้ำมัน และ ระบบไฟฟ้าผสมกันไป
“หลังจากรถประเภทเดิมหมดสัญญาเราก็ตั้งใจที่จะเปลี่ยนทั้งหมด ตามเป้าหมายทำให้กรุงเทพมหานครเป็น Green Bangkok แต่จะทำได้สมบูรณ์ทางคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้มั่นใจในระบบ เพราะกทม.ไม่อาจขาดรถขยะได้แม้เพียงวันเดียว” ชัชชาติระบุ
แนวทางศึกษารถขยะแบบ EV เครื่องการันตีว่ากทม. พร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลง?
ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ได้เข้าพบผู้ว่าฯกทม. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นรถขยะพลังงานไฟฟ้า โดยสรุปข้อหารือว่า กทม.มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณและความคุ้มค่า
ทางสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (มร.สส.) ซึ่งได้ร่วมมือกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล กทม. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักงานเขตดุสิต ได้ดำเนินโครงการศึกษาทดสอบความคุ้นค่าการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า 100%
ผลการทดสอบ พบว่า สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับขึ้นสะพานลาดชันได้ดีมาก สามารถบรรทุกขยะได้ถึง 5 ตันในรอบเดียว ไม่มีของเหลวรั่วไหล ลดเสียงดังจากกระบวนการบีบอัดขยะได้ และที่สำคัญลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่ารถแบบใช้น้ำมัน 90 %
อ้างอิง :
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
www.chadchart.com/policy