‘โขงล้น-โขงแล้ง’ วิกฤตหนักไทย-ลาวในรอบ 5 ปี ภาพสะท้อนที่ฉายชัดจากคนทำ หรือ ธรรมชาติ?
‘โขงล้น-โขงแล้ง’ วิกฤตหนักไทย-ลาวในรอบ5 ปี ภาพสะท้อนที่ฉายชัดจากคนทำ หรือ ธรรมชาติ?
‘โขงล้น-โขงแล้ง’ วิกฤตหนักไทย-ลาวในรอบ5 ปี
(15 ส.ค.66) รายงานจากกองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ระบุว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของประเทศไทย ณ เวลา 7.00 น. มีสัญญาณที่ดีขึ้น เป็นข่าวดีในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. ที่ระดับน้ำโขงเริ่มเพิ่มสูงจนเข้าขั้นวิกฤตในวันที่ 12 ส.ค
โดยข้อมูลจากสถานีในเครือข่ายสถานีอุตุ-อุทกวิทยาแม่น้ำโขง ที่มีจำนวน 6 สถานี รายงานว่า ระดับน้ำทุกสถานีต่ำกว่าปกติ น้ำท่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยเฝ้าระวัง และ น้ำน้อยวิกฤตจุดที่ระดับน้ำลดลงต่อเนื่องจากวานนี้ 14 ส.ค. คือที่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
แต่ทั้งนี้ประกาศจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังคงระบุว่า มี 4 จังหวัด ที่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น คือ จังหวัดนครพนม,มุกดาหาร ,อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
เนื่องด้วยอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยคาดว่าที่จังหวัดนครพนม ปริมาณฝนสูงสุด 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 80 มิลลิเมตร
วิกฤตหนักสุดใน 5 ปี ประมวลสถานการณ์ตลอดสัปดาห์ 8-15 ส.ค.
เริ่มต้น 8 ส.ค. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ได้เตือนภัย 8 จังหวัด ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเริ่มตั้งแต่จังหวัดเชียงราย, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด เนื่องด้วยพบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 10-15 ส.ค.นี้
9 ส.ค. สำนักอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสปป.ลาว แจ้งภัยประชาชนในประเทศให้ระวังระดับน้ำของแม่น้ำโขงในนครหลวงเวียงจันทน์อยู่ที่ 11.23 เมตรซึ่งสูงเกินเกณฑ์เตือนภัย และใกล้เกณฑ์อันตราย 12.50 เมตร
11 ส.ค. กอนช. ประกาศเตือนว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้น จุดที่น้ำเพิ่มต่ำสุดอยู่ระหว่าง 40-60 เซนติเมตร จุดที่น้ำจะเพิ่มสูงมากสุดคือ 3.50 เมตร จังหวัดหนองคาย และนครพนมเสี่ยงภัยมากที่สุดคือ จะมีจุดที่น้ำเพิ่มตั้งแต่ 2 เมตร ถึง 2.50 เมตร
ความเสียหายในวันดังกล่าว พบว่าที่จังหวัดเลยมีปลาที่เลี้ยงในกระชังแม่น้ำโขงกว่า 400 กระชัง เกิดอาการน็อกน้ำและตาย ซึ่งเป็นผลกระทบรุนแรงครั้งแรกในรอบ 10 ปีของชาวประมง นอกจากนี้ร้านค้าที่ให้บริการโป๊ะ แพริมน้ำโขงทั้งหมดต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ร้านค้าริมฝั่งต่างๆทยอยถูกน้ำท่วม การสัญจรทางเรือหยุดชะงัก โดย กอนช. ประกาศขยายช่วงเวลาเฝ้าระวัง จาก 15 ส.ค.ในทีแรกไปเป็น 18 ส.ค. ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครพนม,บึงกาฬ และหนองคาย
12 ส.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงฝั่งจังหวัดนครพนม เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยความลึกเกินระดับ 11 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่ง 1 เมตร ประชาชนในพื้นที่ติดลำแม่น้ำโขง 4 อำเภอของจังหวัดนครพนม คือ อำเภอบ้านแพง, อำเภอท่าอุเทน, อำเภอธาตุพนม และพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม ได้รับผลกระทบโดยตรง
13 ส.ค.- 14 ส.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องแต่ยังส่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงทั้งชาวไทย และพี่น้องชาวสปป.ลาว โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการหาปลาในแม่น้ำเนื่องจากพื้นผิวน้ำยังมีเศษไม้ เศษขยะ เป็นผลจากที่ก่อนหน้าตอนระดับน้ำสูงน้ำได้พัดพาเศษซากต่างๆตามแต่ละพื้นที่มารวมกัน
ถ้าเรื่องนี้เกิดจากคนทำ
เราย้อนบทสัมภาษณ์ของทีมข่าว TNNonline ที่ได้พูดคุยปัญหาโขงล้น-โขงแล้ง กับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่ง ดร.ไชยณรงค์มองว่าหัวใจหลักของปัญหานี้คือเรื่องเขื่อน
การปล่อยน้ำลงมาจากเขื่อนไซยะบุรี เพื่อกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าที่เริ่มเมื่อปี 2562 ทำให้เกิดการพังถลายของดินริมตลิ่งโขง การปล่อยน้ำของเขื่อนที่ขึ้นๆ ลงๆ ผิดธรรมชาติทำให้น้ำโขงในฤดูฝนแห้งเหมือนฤดูแล้ง และทำให้ป่าไคร้ กำแพงธรรมชาติต้องถูกน้ำท่วม
ดร.ไชยณรงค์ ยังกล่าวเสริมว่า ความผิดธรรมชาติที่มาจากฝีมือคนนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศสองฝั่งโขงไปตลอดการ การที่น้ำขึ้น-น้ำลงผิดธรรมชาติ ปลาหลงฤดู คิดว่าเป็นฤดูน้ำหลากเมื่อว่ายน้ำอพยพไปวางไข่ แต่ปลาจะไม่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ เพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่พร้อมสำหรับการวางไข่ อนาคตอันไม่ไกลก็อาจทำให้ปลาในแม่น้ำโขงลดลง
และอีกส่วนที่กระทบปัญหาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือคนด้วยกันเองที่ต้องประสบ ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่อยู่อาศัยจำนวนมากสูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิต แนวทางอาชีพที่ตกทอดส่งต่อกันมาค่อยๆหายไปเพราะ แหล่งน้ำไม่เหมือนเดิม
สำหรับเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ สร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่เมืองไซยะบุรี สปป.ลาว อยู่บริเวณท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 80 กม. และห่างจากพรมแดนไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กม.
โดยบริษัท CK Power ในเครือ ช.การช่าง ได้รับสัมปทานทั้งการก่อสร้างและการบริหาร จากรัฐบาลสปป.ลาว เป็นระยะเวลา 31 ปีนับตั้งแต่วันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 29 ตุลาคม 2562 มีการใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 135,000 ล้านบาท
มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,768 ล้านหน่วยต่อปี มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ตามข้อตกลงจะส่งไฟฟ้าให้กฝผ. 93 เปอร์เซ็นต์ และส่งให้ EDL 7 เปอร์เซ็นต์
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมได้สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงการทดลองระบบเขื่อนจนปัจจุบัน คือ ความผันผวนของระดับน้ำโขง ระดับน้ำโขงทางท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีลดลงระดับอย่างรุนแรง ต้นไคร้น้ำตลอดสองฝั่งตลิ่งแห้งตายเป็นจำนวนมาก ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กตายตามริมฝั่ง
และหากยังจำได้เรื่องที่สร้างความแปลกประหลาดของแม่น้ำโขง คือการเกิดปรากฎการณ์น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้าหรือภาวะที่แม่น้ำไร้ตะกอนในฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา เมื่อช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2562
ถ้าเรื่องนี้เกิดจากธรรมชาติ
ผลจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ก่อให้เกิดสภาพอากาศผันผวนรุนแรง เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน
ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียอาจจะฝนน้อยลง และเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
ทีมข่าว TNNOnline ได้เคยนำเสนอความเห็นของ ผศ. ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของทะเลแปซิฟิก ทำให้ประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ภูมิภาคจีนตอนล่าง จนไปถึงออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้มีภาวะของฝนน้อย ซึ่งแตกต่างกับอเมริกาตอนใต้ ที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ
ทั้งนี้ การสังเกตค่าเฉลี่ยฝนในประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังมีปริมาณที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ โดยมีปริมาณน้ำฝนเพียงแค่ร้อยละ 46 ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนในปีที่แล้ว2565 โดยมองว่าหากฝนยังคงตกในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ปริมาณน้ำสำหรับฤดูแล้งในปี 2566-2567 ก็อาจจะมีไม่เพียงพอ
ปัญหาแม่น้ำโขงที่นำไปศึกษากว่า 10 ปีกำลังถูกไล่รื้อ
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2548 – 2555 กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ของโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง
ซึ่งต่อมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทบทวนและศึกษาเพิ่มเติมผลการศึกษาของกรมชลประทาน และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง : การพัฒนาระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
ทาง คชก. ได้มีมติให้กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากผู้แทนภาคประชาชนเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้ดำเนินโครงการขาดความเข้าใจในภูมินิเวศ รวมถึงวัฒนธรรมการใช้น้ำและการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง จึงขอให้ตรวจสอบ
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนภาคประชาชนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวทั้งในเดือนตุลาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 จึงนำสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา
โดยท้ายสุดเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 และมาตรา 43 (2) และ (3) ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
รวมทั้งรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ,กรมชลประทาน ,คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ,องค์กรผู้ใช้น้ำ ,ประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขอให้ทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำทุกระยะ จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกที่จะสอดคล้องกับความต้องการ ภูมินิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่
ภาพ ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง16
เรียบเรียง : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการข่าว TNNOnline