TNN Exclusive : เหลือ 100 กว่าวัน หมด “ฤดูฝน” น้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์
ภัยแล้งจากภาวะ "เอลนีโญ” เริ่มปรากฏชัด เมื่อน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ฤดูฝนจะหมดลงภายในอีก 100 กว่าวัน”
การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) กำลังเป็นที่พูดถึงของคนทั่วโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชน ในการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รวมถึงภาคการเกษตร
ข้อมูลล่าสุดจาก “บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์” รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า ประเทศไทย ได้เข้าสู่ภาวะเอลนีโญแล้ว แต่ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนๆ โดยฝนที่ตกมาในช่วงปี 2566 อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปี โดยปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ ตั้งแต่มกราคม มีค่าต่ำกว่าปกติถึงร้อยละ 28 โดยเฉพาะภาคเหนือ มีฝนต่ำกว่าปกติร้อยละ 38 ขณะที่ภาคกลาง มีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ถึงร้อยละ 55
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า จากข้อมูลสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่รายงานสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิ.ย.) มีปริมาณน้ำใช้การ อยู่ที่ 3,940 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดเป็นร้อยละ 16) โดยต้องการน้ำเก็บกักเพิ่มมากถึง 8,060 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนของปี 2566 ทั้งสิ้น 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ฤดูฝนจะสิ้นสุดในอีก 127 วัน (ข้อมูล ณ 27 มิ.ย.2566 )
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดภาพรวมปริมาณฝนทั่วประเทศ ตั้งแต่ 27 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2566 ทั่วประเทศจะมีฝนเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการตกกระจายและตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกด้านรับมรสุม และใกล้แนวร่องมรสุม ส่วนภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝนตกบางพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนอาจยังไม่เพียงพอเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั่วประเทศ
เมื่อได้รับรู้ข้อมูลจากหน่วยงานหลักๆ ที่ดูแลเรื่องน้ำของประเทศแล้ว ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในรอบนี้ เชื่อว่า จะกระทบต่อคนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการประหยัดน้ำ และหลีกเลี่ยงการเกษตรที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จึงเป็นทางเลือกและเป็นทางรอด ที่จะทำให้สถานการณ์ ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
ภาพ : TNN ข่าวเที่ยง
เรียบเรียง : มนตรี ขัดเรือง