ปรับพอร์ตลงทุนตลาดหุ้นจีน สร้างผลตอบแทนในกระเป๋าเพิ่ม
ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมาน่าสนใจลงทุนกันอีกครั้ง หลังจากที่รัฐพุ่งเป้าธุรกิจ New Economy -เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้จีนยังรักษาความเป็นมหาอำนาจในฝั่งเอเชีย นอกจากนี้รัฐยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสวนทางมะกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง สัญญาณการลงทุนตลาดหุ้นจีนจะเป็นอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจมังกรเริ่มผงกหัว วิเคราะห์โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
วันนี้ ‘โลกหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ’ จริงแล้วหรือ!!
ที่ผมเปิดเรื่องประเด็นนี้ เพราะว่าเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่งประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน) ลดลง 0.10% สู่ระดับ 2.75% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังติดกับดักการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ในไตร มาส 2 ที่ผ่านมา
เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังเดินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย สวนทางกับสหรัฐฯ เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ที่ติดกับดักปัญหาเงินเฟ้อสูงพุ่งแรง จนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องตัดสินใจใช้นโยบายการเงินที่เข้มข้นผ่านการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถี่และแรงในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงกรกฎาคมทั้งหมดรวม 4 ครั้ง จาก 0%-0.25% มาสู่ระดับ 2.25%-2.50%
หลังจากที่ต้นปี 2565 โลกมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นำมาสู่ปัญหาราคาน้ำมันขึ้นแรง เป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ และฝั่งยุโรปก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเช่นกัน ทำให้โลกเข้าสู่ ‘เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น’
@ เอฟเฟคดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจตะวันตกถลาลงแบบ Hard landing
เอฟเฟคจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางหลายประเทศตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้ฉุดให้เศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 ถลาลงแบบ Hard Landing ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือยุโรป และส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้นแล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก ปี 2565 ลงสู่ระดับ 3.2% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ เดินเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หลังจากที่ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐ กิจ หรือ GDP หดตัว 0.9% ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ GDP หดตัว 1.6% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่สหรัฐฯ เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวลานั้น โดยครึ่งปีแรก เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวแล้ว -1.25%
ส่วนจีน GDP ไตรมาสที่ 2 เติบโตเพียง 0.4% พลาดเป้าหมายอย่างแรงและต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบหลักจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อดำเนินการตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid-19) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นสำคัญ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อโลกให้เผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานตามไปด้วย ทำให้ครึ่งปีแรก เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 2.5% ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.5%
เมื่อมองแนวโน้มในระยะข้างหน้า ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากภาวะเงินเฟ้อและภาวะการเงินที่ตึงตัว โดยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯแม้จะผ่านจุดพีกไปแล้ว แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ระดับสูงไปอีกหลายเดือน
ท่ามกลางตัวเลขการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี Fed ได้ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลงตามความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา Fed Watch Tool ระบุว่า นักลงทุนให้น้ำหนักราว 56.5% มองว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และสัดส่วน 43.5% เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% แม้เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วก็ตาม
ฝั่งเศรษฐกิจยุโรปก็ยังเผชิญความเสี่ยงด้านอุปทานพลังงานจากการลดปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและภาวะเงินเฟ้อสูง ล่าสุด เยอรมันรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคมพุ่งขึ้น 37.2% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษเพิ่มขึ้น 10.1% สูงสุดรอบ 40 ปี โดยธนาคารกลางทั้ง 2 อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากต่อไปซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปหดตัวในไตรมาสที่ 3 นี้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามเงินเฟ้อที่เร่งตัว ลดทอนอำนาจซื้อ และการตึงตัวของนโยบายการเงิน
อีกความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะคู่ปรับใหญ่ของโลกระหว่าง ‘จีน-สหรัฐฯ’ ซึ่งล่าสุด เกิดกรณีนาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ทำให้จีนต้องออกมาแสดงแสนยานุภาพการซ้อมรบประกาศท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ และไต้หวัน ตอกย้ำแนวโน้มของการแบ่งแยกอุปทานโลก (Global supply chain decoupling) ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกหลังโควิด
ปัจจุบันจะเริ่มมองเห็นสถานการณ์โลกกำลังกลับตาลปัตร เพราะตั้งแต่ปี 2561 ที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนขึ้น โลกก็ก้าวเข้าสู่ยุค Regionalization หรือเรียกว่า ‘ภูมิภาคาภิวัตน์’ เป็นภาพที่ต่างจากเมื่อกว่า 10 ปีก่อนหน้าที่เป็นยุค ‘Globalization’ หรือ ‘โลกาภิวัฒน์’ รุ่งเรืองถึงขีดสุด การค้าการลงทุนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันอย่างสะดวกสบาย มีเขตการค้าเสรีเกิดขึ้นมากมาย
นับตั้งแต่โลกเกิดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนขึ้นไม่นานนัก ก็เกิดเหตุการณ์ Brexit คือ อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ EU และปีนี้ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทรัพยากรที่มีอยู่เฉพาะบางภูมิภาคจะมีราคาสูงขึ้น เพราะการครอบครองทรัพยากรบางอย่างถือเป็นอำนาจการต่อรอง ในทำนองที่ว่า ‘ถ้าเธอไม่ใช่พวกเดียวกับฉัน ฉันก็จะไม่ขายของให้เธอ’ ถือเป็นยุคที่คบกันเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นตอนนี้ เพราะรัสเซียที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดการส่งออกไปสหภาพยุโรป เพื่อคานอำนาจการต่อรองในความขัดแย้งกับยูเครน ทำให้สหภาพยุโรปจึงเจอกับวิกฤตพลังงาน
ด้านรัสเซียก็หันไปเจรจาขายให้จีนและอินเดียในราคาที่ถูกกว่าตลาดโลกด้วย หรือคู่ปรับใหญ่อย่าง ‘สหรัฐฯ-จีน’ เช่นกัน เมื่อสหรัฐฯ พยายามกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในทุกวิถีทางเช่นเดียวกัน ซึ่งไต้หวันเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกนี่คือภาพความเสี่ยงของโลกที่เริ่มเข้าสู่ยุคแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีกรอบ การยกเอาทรัพยากรบางอย่างมาเป็นอำนาจในการเจรจาต่อรองก็จะมีให้เห็นบ่อยขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และจะเริ่มชะลอตัวตามราคาพลังงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั้งในภาคการผลิตตามการชะลอตัวของอุปสงค์โลก และในภาคบริการตามแรงส่งของอุปสงค์คงค้างที่ทยอยหมดลงและปัจจัยทางฤดูกาล จะส่งผลให้ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ช้าลงในระยะต่อไป ส่งผลให้ความผันผวนในตลาดเงินโลกลดลงและผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มฟื้นตัว
ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โอกาสการลงทุนมาถึงแล้ว ว่าแต่จะเลือกลงทุนในตลาดหุ้นไหนดี? อย่างที่รู้กันดีว่า ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ เป็น ‘ของแสลง’ สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น
@ เศรษฐกิจจีนที่ยังโตดี กับตลาดหุ้นจีน ‘ของดี ราคาถูก’
ประเทศที่ใช้ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ สวนทางกับสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ ประเทศจีน เพราะรัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะปั๊มเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 5.5% แม้จะมีกระแสเสียงสะท้อนว่าอาจจะพลาดเป้า ซึ่งตัวเลขใหม่ที่คาดการณ์กันไว้ก็ถือว่ายังขยายตัวได้อยู่ระดับ 3-4% เพราะไม่เพียงแค่ใช้นโย บายการเงินที่ผ่อนคลาย รัฐบาลจีนยังใช้นโยบายการคลังที่เข้าไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์กลับมาเปิดประเทศแล้ว
Bloomberg ได้รวบรวมตัวเลขเม็ดเงินสำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน พบว่า เป็นจำนวนเงินรวมกันสูงถึง 35.5 ล้านล้านหยวน โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินไว้เป็นกระสุนสำรอง เพื่อเร่งการเติบโต
การใช้นโยบายการเงินด้วยการ ‘ลดดอกเบี้ย LPR’ ของธนาคารกลางจีน นับว่าเป็นมาตรการที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ตามมาตรการ Zero Covid เพื่อช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อุปสงค์ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลาย 2563 เป็นต้นมา หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ China Evergrande ที่ยืดเยื้อนั้น ในปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว
ทั้งนี้ วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate (LPR) 5 ปี ลงอีก 0.15% เหลือ 4.30% ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม และถือเป็นการปรับลดที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด
หากมองภาพรวมของสถานการณ์ประเทศจีนในช่วงเวลานี้ มีสัญญาณการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีหลายประเด็นที่สนับสนุนการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้
ประเด็นแรกปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจีนที่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาวอนาคต ซึ่งมี New Economy และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้จีนยังรักษาความเป็นมหาอำนาจจากฝั่งเอเชียได้อีกนาน ซึ่งหมายถึงผลประกอบการของภาคธุรกิจทั้งในและนอกตลาดมีอนาคตเติบโต พร้อมกันนี้รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดการควบคุมธุรกิจเทคโนโลยี ส่งผลให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เริ่มกลับมาคึกคักในตลาดอีกครั้ง
ประเด็นที่สอง จีนกำลังเตรียมทำระบบจัดกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีถูกทางการสหรัฐฯ เพิกถอน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีบริษัทจีนราว 260 แห่ง เสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ หรือ SEC พบอุปสรรคในการตรวจสอบเอกสารจากกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุนของจีน
อย่างไรก็ตาม จีนมีแผนรองรับให้บริษัทจีนบางแห่งสามารถปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุนของสหรัฐฯ แล้ว โดยแนวทางหลักๆ จะมีการจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีข้อมูลไม่ละเอียดอ่อน กลุ่มที่มีข้อมูลละเอียดอ่อน และกลุ่มที่มีข้อมูลลับ ซึ่งรัฐบาลจีนจะขอให้บริษัทที่มีข้อมูลลับเพิกถอนตัวเองออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง
ปัจจุบัน เริ่มมีหุ้นใหญ่บางตัวย้ายจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาจดทะเบียนในฮ่องกงแล้ว นำโดยหุ้น Alibaba ที่ได้มายื่นขอจดทะเบียนแบบ Primary Listing ในตลาดหุ้นฮ่องกงแล้ว จากเดิมที่จดทะเบียนแบบ Secondary Listing
โดยการจดทะเบียนแบบ Primary Listing ในตลาดหุ้นฮ่องกงจะช่วยให้นักลงทุนจากจีนและต่างประเทศลงทุนหุ้น Alibaba ได้โดยตรง และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกเพิกถอนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทจีนอีกหลายแห่ง จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางเดียวกันนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากช่องทาง China – Hong Kong Connect และให้นักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศลงทุนได้สะดวกเช่นเดิม ตลาดหุ้นจีนจะมีสินค้าใหญ่ ๆ (Sup ply)ให้เลือกลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่สาม แนวโน้มจำนวนนักลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นแดนมังกรมีเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจาก China Securities Depository and Clearing Corporation (CSDC) ระบุว่า ในปี 2564 จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 11% รวมเป็น 197.4 ล้านคน จากเดิม 177.77 ล้านคนในปี 2563 ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2565 นักลงทุนในตลาดหุ้นแห่งนี้ทะลุ 200 ล้านคนอย่างแน่นอน
CSDC ยังสำรวจพบว่า กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีนมีทั้งกำไรและขาดทุนในปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มพิจารณาจากผลประกอบของบริษัท และภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคเหมือนกัน เพียงแต่ช่วงปี 2564 ตลาดหุ้นจีนเป็นขาลง จึงเสมือนเป็น Zero-sum game ที่มีทั้งคนชนะและคนแพ้ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ประเด็นที่สี่ ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวกลับมาแล้วหลังจากที่ปรับตัวลงแรงมาตลอดปี 2564 และปีนี้ไหลลงต่ำสุดในเดือนเมษายน 2565 แต่หลังจากจีนประกาศคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวกลับมาขึ้นมามาก ปัจจุบัน ดัชนี CSI300 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 9.99% จากระดับต่ำสุดในเดือนเมษายน 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเป็นบวก ในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสลงทุนในหุ้นคุณภาพดี (รายได้โต) และมีราคาถูกหากเทียบกับปีที่แล้ว
@ผลตอบแทนหุ้นจีนเริ่มกลับมาเป็นบวกในช่วง 3 เดือน
หากดูข้อมูลผลตอบแทนที่น่าสนใจจาก Thematic ตลาดหุ้นจีน ของ Jitta Wealth (ข้อมูล ณ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา) ซึ่งลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นหลักของประเทศจีน ผ่านกองทุน iShare MSCI China ETF พบว่า ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ติดลบ 26.42% แต่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน ติดลบเหลือ 2.17% ซึ่งหุ้นหลักๆ ที่ถือจะเป็นหุ้นบิ๊กเทคที่รู้จักกันทั้งนั้น อาทิ Tencent Holding Ltd. ,Alibaba Group Holding Ltd. Meituan ,JD,com,Inc. ,Ping An Insurance (Group) ,Baidu.Inc.เป็นต้น
ส่วน Thematic เทคโนโลยีจีน ที่ลงทุนหุ้นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนชั้นนำในกลุ่ม Information Technology ทั่วโลกทั้งหุ้น A-Share H-Share และ ADR ผ่านกองทุน Invesco China Technology ETF พบว่า ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ติดลบ 30.83% ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน พลิกกลับมาเป็นบวกแล้ว 1.23% ซึ่งหุ้นใหญ่ๆที่ถือ อาทิ Tencent Holding Ltd. , Meituan , Baidu.Inc เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี Thematic พลังงานสะอาดจีน ที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน พลิกบวกถึง 5.6% หลังจากช่วงย้อนหลัง 1 ปี ติดลบ 17.03% แม้แต่ Thematic บริการสุขภาพจีนหรือเฮลท์แคร์จีน ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน พลิกบวกถึง 0.53% หลังจากช่วงย้อนหลัง 1 ปี ติดลบ 32.13%
ขณะที่ Jitta Ranking จีน จะมีหุ้นหลายๆตัวก็มีผลตอบแทนที่กลับมาดีขึ้นแล้ว หากดูภาพรวมของตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่จะเริ่มเข้าลงทุนระยะยาว
มุมมองส่วนตัวของผมยังเชื่อว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นจีนที่ยังมีความน่าสนใจและมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ลงทุนระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Supply จากหุ้นที่จะย้ายกลับมาฝั่งเอเชียแทนสหรัฐฯ และด้าน Demand ที่เฉพาะนักลงทุนจีนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจใหม่ๆที่อยู่ใน New Economy ล้วนเป็นแรงส่งให้ตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีแรงดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับคุณลองถามใจตัวเองดูว่า ถึงเวลาจะลงทุนหุ้นจีนเพื่อให้พอร์ตเติบโตในระยะยาวหรือยัง เพราะการเริ่มต้นลงทุนวันนี้ ถือเป็นโอกาสทองที่ดีที่สุด
ที่มา ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ภาพประกอบ Jitta Wealth