จับกระแสประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ คุ้มค่า-คุ้มครองมากแค่ไหน
ปฏิวัติวงการประกัน ด้วย New Health Standard หลังจากที่รูปแบบเดิมขายได้ถึง 30 มิ.ย.นี้จะทันสมัยมากแค่ไหน-บริษัทประกันบอกเลิกกรมธรรม์ได้หรือไม่หาคำตอบได้จาก วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
แต่เดิมปัญหาของคนซื้อประกันสุขภาพมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่ไม่ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีทาง การแพทย์และนวัตกรรมการรักษาสมัยใหม่ การปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ เนื่องจากมีการเบิกเคลมเงินผลประโยชน์ที่สูง ซึ่งส่งผลให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง และการที่จะไปทำประกันตัวใหม่ๆ ก็ทำได้ยาก เนื่องจากมีประวัติการเจ็บป่วย
ตลอดจนการเปรียบเทียบผลประโยชน์และความคุ้มครองของแต่ละกรมธรรม์ก็ทำได้ยาก เนื่องจากแต่ละกรมธรรม์ให้คำจำกัดความและรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีคนจำนวนมากที่ถึงแม้จะเห็นข้อดีของประกันสุขภาพและประกันชีวิต แต่สุดท้ายแล้วก็กลับไม่ตัดสินใจทำประกันด้วยปัญหาดังกล่าว
โดยวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 คปภ. มีประกาศให้บริษัทประกันภัยเริ่มใช้สัญญาประกันสุขภาพตามมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) สำหรับลูกค้ารายใหม่
ส่วนกรมธรรม์ประกันรูปแบบเดิมให้ขายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้ เท่ากับว่าประกันสุขภาพกรมธรรม์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าใจรายละเอียดต่างๆ และเปรียบเทียบตารางผลประโยชน์ของแต่ละกรมธรรม์ได้ง่ายมากขึ้น ตลอดจนช่วยกลบช่องโหว่ของประกันสุขภาพและเสริมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทันสมัย
โดยเมื่อมาตรฐานสุขภาพใหม่ หรือ New Health Standard มีการบังคับใช้ เราจะสามารถเทียบความคุ้มครองของประกันในแต่ละกรมธรรม์ได้ง่าย เนื่องจากความคุ้มครองจะแบ่งแยกออกเป็น 13 หมวดย่อย ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เป็นผลดีต่อผู้เอาประกันอย่างมาก อาทิ หากบริษัทประกันต้องการเพิ่มเบี้ยประกัน จำเป็นต้องเพิ่มเบี้ยประกันทั้ง Portfolio หรือผู้เอาประกันทุกราย ไม่สามารถเพิ่มเบี้ยประกันเป็นรายบุคคลได้
ประเด็นที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่ง คือการบอกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งบริษัทประกันจะไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ยกเว้นแต่เราปกปิดข้อมูลสุขภาพมีการเคลมค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และการเรียกร้องผลประโยชน์การชดเชยรายวันสูงกว่ารายได้จริงต่อวันของผู้เอาประกัน และเมื่อเราสามารถเทียบตารางผลประโยชน์ที่แต่ละกรมธรรม์เสนอให้ได้ง่ายขึ้นแล้ว
การตัดสินใจเลือกว่าจะทำประกันฉบับใดก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงค่าเบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายโดยเฉพาะค่าเบี้ยประกันช่วงหลังเกษียณอายุ เนื่องจากเป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้ ตลอดจนระยะเวลาความคุ้มครองที่กรมธรรม์ประกันฉบับนั้นให้ความคุ้มครองกับเรา
โดย Macrotrend คาดการณ์ว่า อายุเฉลี่ยของคนไทยจะยืนยาวขึ้นจาก 77.56 ปี ในปี 2022 และเพิ่มเป็น 82.36 ปี ในปี 2050 ซึ่งเท่ากับว่าเราจะต้องการประกันที่ให้ระยะเวลาคุ้มครองที่ยาวนานขึ้น เพื่อสอดรับกับอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า New Health Standard มีบทบาทในการช่วยผู้ซื้อประกันให้สามารถเปรียบเทียบความน่าสนใจของแต่ละกรมธรรม์ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันสามารถเลือกรูปแบบของกรมธรรมที่เหมาะสมกับตน
แต่อย่างไรก็ดีแม้ต่อไปบริษัทประกันจะไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่เชื่อว่าการรับประกันในอนาคตอาจจะมีความยากและเข้มงวดกว่าในปัจจุบันมาก ทำให้ผู้เอาประกันจำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียด ข้อบังคับ และเงื่อนไขต่างๆ ก่อนทำประกันให้ถี่ถ้วน เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันเองและเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อต้องการเคลมผลประโยชน์ในอนาคต ....
ที่มา วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
ภาพประกอบ ธนาคารทิสโก้